"ราชวิทยาลัยทันตแพทย์ฯ" เตือนฟันผุลุกลามสู่เบ้าตา "อันตรายถึงตาย" เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์นวัตกรรม การค้าการลงทุน

บทความ

"ราชวิทยาลัยทันตแพทย์ฯ" เตือนฟันผุลุกลามสู่เบ้าตา "อันตรายถึงตาย"

 

MED HUB NEWS -  จากกรณีข่าวผู้ติดเชื้อจากฟันบนผุจนลุกลามเข้าสู่เบ้าตานั้น  medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า  รศ.ทพ.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า

เชื้อโรคสามารถลุกลามต่อเนื่องถึงอวัยวะข้างเคียงได้หากปล่อยโรคฟันผุทิ้งไว้ เช่นฟันล่างหากติดเชื้อลุกลามอาจบวมเป็นหนองบริเวณใต้คางจนทำให้หายใจไม่ได้ และเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต

ก่อนหน้านี้ เฟสบุ๊ค Doctor Aree ของ พญ.อารีย์ นิมิตรวงศ์สกุล ซึ่งเป็นจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคตา โพสต์ภาพคนไข้รายหนึ่ง ดวงตาขวาอักเสบบวมแดงและมีหนอง

พร้อมข้อความระบุว่า "ฟันผุ สามารถเป็นสาเหตุของการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ไซนัสและลามมาในเบ้าตาด้านหลังลูกตาได้ เช่นเคสนี้เป็นต้น"

ทั้งนี้ คนไข้รายนี้ ตาปูดโปน มองจนเห็นแค่นิ้วลางๆ ปวดตามาก ทำซีทีจึงพบว่ามีหนองในไซนัสและในเบ้าตา และแถวรากฟัน ได้ผ่าตัดถอนฟัน และผ่าตัดระบายหนองหลังเบ้าตาและไซนัส

รวมถึงให้ยาฆ่าเชื้อ จนกลับมามองเห็นได้ปกติ แต่รายอื่นๆ หากรักษาไม่ทันอาจไม่โชคดีกลับมามองได้แบบรายนี้ จึงโพสต์กรณีของคนไข้รายนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า ให้ดูแลสุขภาพช่องปากและสุขภาพตาต่อเนื่อง หากมีอาการฟันผุอย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะหากติดเชื้อลุกลาม ก็อาจทำให้ถึงขั้นตาบอดได้

สำหรับ การรักษารากฟันเป็นขั้นตอนทาง "ทันตกรรม" ที่หลายๆ คน อาจจะกลัว คนไข้มักจะหาข้ออ้างในการเลื่อนการนัดหมายพบทันตแพทย์ 

ขณะที่ทันตแพทย์เตือนผู้ที่มีฟันผุ ฟันเป็นรู หรือฟันที่ได้รับอุบัติเหตุเนื้อฟันแตก หัก จนถึงชั้นโพรงประสาทฟันสามารถรักษาฟันไว้ได้โดยไม่จำเป็นต้องถอนฟันออก

ช่วยป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อฟันซี่อื่น แต่หากละเลยไม่รักษาอาจนำไปสู่การติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน และอวัยวะข้างเคียงได้

medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวถึง การรักษารากฟัน คือวิธีรักษาการติดเชื้อ ในโพรงประสาทฟันจากแบคทีเรีย

ซึ่งแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายในปากเข้าไปสร้างปัญหาเมื่อเกิดฟันผุ ฟันเป็นรู หรือฟันที่ได้รับอุบัติเหตุทำให้เนื้อฟันแตก หัก

การรักษารากฟันไม่จำเป็นต้องถอนฟัน ภายหลังการรักษาจะช่วยให้การเคี้ยวอาหารกลับมามีประสิทธิภาพรูปร่างของฟันกลับมาสวยงาม และป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อฟันซี่อื่น

แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ฟันซี่นั้นเสียหายจนต้องถอนฟัน ซึ่งการถอนฟันที่ไม่มีการใส่ฟันปลอมทดแทนจะก่อเกิดปัญหาต่อการกัดหรือเคี้ยวอาหารทำให้ฟันเคลื่อนและยากต่อการทำความสะอาดช่องปาก

ดังนั้นจึงควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอและรับการตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน

ด้าน ทันตแพทย์สมศักดิ์ ศรีพนารัตนกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ  สถาบันทันตกรรม เผยว่า เมื่อโพรงประสาทฟันติดเชื้อจะทำให้เกิดความเจ็บปวด และอาจเกิดหนองที่ปลายรากฟัน ซึ่งอาจลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง การรักษารากฟันจะช่วยหยุดการติดเชื้อ ลดอาการปวดฟัน และทำให้ฟันซี่นั้นยังคงอยู่ต่อไปได้

ทั้งนี้อาการบ่งชี้ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรับการรักษา ได้แก่ รู้สึกเสียวฟันเมื่อดื่มเครื่องดื่มที่เย็นหรือร้อนเจ็บเวลาเคี้ยวหรือกัดอาหารฟันหลวมหรือโยกมีอาการบวมและนิ่มลงของเหงือกบริเวณฟันที่ติดเชื้อมีน้ำหนองไหลจากฟันที่ติดเชื้อ หรือมีตุ่มหนองขึ้นบนเหงือกสีของฟันคล้ำลงหน้าบวม

ซึ่งทันตแพทย์จะรักษาโดยการทำความสะอาดในโพรงประสาทฟันและอุดปิดด้วยวัสดุอุดคลองรากฟัน และทำการบูรณะฟันด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันในซี่ที่ได้รับการรักษารากฟัน

โดยฟันที่ได้รับการรักษารากฟันในช่วงแรกอาจมีอาการเจ็บภายหลังการรักษา จึงควรปฏิบัติตัวดังนี้ งดรับประทานอาหารจนกว่าอาการชาที่ปากจะหมดไป เพื่อป้องกันการกัดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มโดยไม่ตั้งใจ

ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหรือกัดอาหารด้วยฟันซี่ที่รักษารากฟัน รักษาความสะอาดด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันตามปกติ

นอกจากนี้หากรู้สึกว่ามีวัสดุอุดฟันชั่วคราวหลุดออกมาหรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่นมีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัดให้รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News   

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

28 พฤศจิกายน 2561

ผู้ชม 3812 ครั้ง

Engine by shopup.com