"เตือนคนไทย" รู้ทันยากลุ่มเอ็นเสด อันตรายต่อไตอาจป่วยโรคไตเรื้อรัง เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์นวัตกรรม การค้าการลงทุน

บทความ

"เตือนคนไทย" รู้ทันยากลุ่มเอ็นเสด อันตรายต่อไตอาจป่วยโรคไตเรื้อรัง

 

MED HUB NEWS อีกหนึ่งปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย คือการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs  (เอ็นเสด ) หรือ  Non-Steroidal Anti-Inflammatory เป็นกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ใช้มากในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวด บวม หรืออักเสบต่าง ๆ

ยากลุ่ม NSAIDs นี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงมาก เช่น เลือดออก หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก ดังนั้น การใช้ยากลุ่มนี้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ หรือซื้อภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร

ยา NSAIDs ที่ใช้แพร่หลายในประเทศไทย ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาโปรเซน (Naproxen)

อินโดเมธาซิน (Indomethacin)  อีโตริคอกซิบ (Etoricoxib) หรืออาร์โคเซีย (Arcoxia) และเซเลโคซิบ (Celecoxib) หรือเซเลเบรก (Celebrex)

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม ( MEDHUBNEWS.COM ) และ เพจ sasook รายงานว่า วันนี้  ( 25 พฤศจิกายน )  นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า

กระทรวงสาธารณสุข พบว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องล้างไตรายใหม่ประมาณ 15,000 – 20,000 คน แนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปี

จากการศึกษาของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากรที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 20 ปี

หรือเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่ง อยู่ในระยะ 3-5 ที่ใกล้จะต้องล้างไต  และระยะสุดท้ายที่ต้องล้างไตประมาณ 100,000 คน

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งการใช้ยาที่ทำอันตรายต่อไต

ที่พบปัญหามากที่สุดคือ เอ็นเสด ซึ่งเป็นกลุ่มยาแก้ปวด ลดการอักเสบ ที่คนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก ใช้เป็นประจำ เพราะช่วยลดไข้ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกได้ผล

เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาโปรเซน เป็นต้น ยาต้านจุลชีพบางชนิด เช่น  อะไซโคลเวียร์ สเตรปโตมัยซิน ไซโปรฟลอกซาซิน ยาชุด และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

โดยมักลักลอบใส่สารที่อันตรายที่มีพิษต่อไต ทำให้เกิดไตวายได้เช่นกัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างสรรพคุณว่าบำรุงไตหรือล้างไต

ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาสูตรใดที่พิสูจน์ได้ทางการแพทย์ว่าสามารถทำให้การทำงานของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกลับมาเป็นปกติได้

ยาดังกล่าวแม้บางสูตรจะไม่ได้เป็นพิษต่อไตโดยตรง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยละเลยการดูแลไตจนโรคลุกลามได้

ทั้งนี้ ได้ให้หน่วยงานในสังกัด รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ไม่ซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดอักเสบ กลุ่มเอ็นเสด และยาปฏิชีวนะ ก่อนใช้ยา

ขอให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม หรือยาจากสมุนไพรที่ผิดกฎหมายไม่ได้ขึ้นทะเบียน โอ้อวดสรรพคุณ รวมถึงยาชุด เพื่อป้องกันเป็นโรคไตจากการใช้ยา

เนื่องจากยาเหล่านี้ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไต ลดลง และทำลายเนื้อไตโดยตรง ทำให้เนื้อไตอักเสบเฉียบพลันหรือเกิดไตวายเฉียบพลัน

หากมีสัญญาณเตือนโรคไตคือ มีอาการเหนื่อยง่าย บวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจการทำงานของไต

และดูแลรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่เนื้อไตจะถูกทำลายอย่างถาวร เป็นโรคไตวายเรื้อรังและเข้าสู่ระยะสุดท้าย ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องฟอกเลือดล้างไตหรือผ่าตัดปลูกถ่ายไตในที่สุด

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News   

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

28 พฤศจิกายน 2561

ผู้ชม 3977 ครั้ง

Engine by shopup.com