"กรมการแพทย์" เตือนปัญหาผู้สูงอายุ กินไป คุยไปตายได้ "กลไกระบบประสาทเสื่อมลง"
"กรมการแพทย์" เตือนปัญหาผู้สูงอายุ กินไป คุยไปตายได้ "กลไกระบบประสาทเสื่อมลง"
MED HUB NEWS - กรณี อุทาหรณ์ ตำรวจรับแจ้งว่ามีเหตุการณ์ด่วน จากเจ้าหน้าที่ร้านเอ็มเค ภายในห้างเทสโก้โลตัส คลองสี่ ถนนรังสิต-นครนายก ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จึงไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วยแพทย์จากโรงพยาบาลธัญบุรี และมูลนิธิร่วมกตัญญู
นายสุเทพ สาระกูล อายุ 66 ปี สภาพศพนั่งพิงอยู่บนรถเข็นโดยเพื่อนของผู้ตายที่มาด้วยกันยืนจับมืออยู่ใกล้ๆ ซึ่ง น.ส. สำฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการร้านเอ็มเค สาขาห้างเทสโก้โลตัส คลองสี่ มาดูเพื่อสอบถามข้อมูลกับเพื่อนของผู้ตาย
น.ส.สำฤทธิ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.ลุงสุเทพและเพื่อนได้เข้ามานั่งในร้านและสั่งเอ็มเคมา 1 ชุด พร้อมเป็ดย่าง 1 จาน ซึ่งก็สังเกตเห็นลุงสุเทพ และเพื่อนเขาก็พูดคุยกันตามปกติ
จนเวลาล่วงเลยมาประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง ลุงสุเทพ มีอาการสะอึกคล้ายมีอะไรเข้าไปติดคอจึงประสานกู้ภัยให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเพื่อนของลุงสุเทพ ขอรถเข็นในห้างนำลุงสุเทพ ออกมาเพื่อส่งโรงพยาบาล แต่ต่อมา ทราบว่าลุงสุเทพ เสียชีวิตแล้ว
ทั้งนี้ เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ รายงานว่า การคุยขณะรับประทานอาหารนั้นจะทำให้เรามีอันตรายอาจถึงตายได้
เพราะทางเดินอาหารกับหลอดลมซึ่งเป็นทางเดินหายใจอยู่ติดกัน เช่น ขณะที่เวลาหายใจกับการพูดคุยขณะกิน
ทำให้ลิ้นเปิด-ปิดทางเดินอาหารกับหลอดลมที่ใช้หายใจเกิดความสับสน ปิดไม่สนิท อาหารตกลงไปในหลอดลม กลไกร่างกายจะทำให้เกิดการสำลัก
หากเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะสำลักออกมาได้ แต่หากเป็นชิ้นใหญ่ตกไปอุดกั้นหลอดลมถึงขั้นเสียชีวิต หรือขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน ทำให้เป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราได้เช่นกัน
หากเกิดการสำลักอาหาร วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ยืนด้านหลังคนที่สำลัก ใช้มือโอบด้านหน้า กดลงบริเวณลิ้นปี่ ส่งผลให้เกิดแรงดันจากกระเพาะอาหาร ผลักดันเศษอาหารที่ติดอยู่ในหลอดลมให้หลุดออกมาทางปาก
ส่วนกลุ่มที่กลไกการกลืนผิดปกติ เช่น เป็นโรคประสาทสมอง ระบบประสาทการกลืนเสียไป อัมพฤกษ์ อัมพาตจากภาวะเส้นเลือดสมองตีบ แตก ตัน ให้รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวช้า ๆ ให้อาหารแหลกละเอียดแล้วค่อย ๆ กลืนอย่างช้า
ผู้ดูแลไม่ควรเร่ง เพราะการเร่งทำให้ระบบปิด-เปิดหลอดลม หลอดอาหารไม่สัมพันธ์กัน กลไกการไอเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมของคนกลุ่มนี้เสียไป ทำให้เศษอาหารตกไปถึงปอด ทำให้ปอดบวม ปอดอักเสบ หรือถ้าเป็นชิ้นใหญ่ อุดหลอดลมซึ่งค่อนข้างยาวถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
ด้าน นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ อดีตรองอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาการติดคอ กลืนอาหารลำบากในผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุระบบการทำงานต่างๆของร่างกายเลื่อมลง
รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการกลืนในวัยสูงอายุซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของช่องปากคอหอยกล่องเสียงหลอดอาหาร
และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืนส่งผลให้ความสามารถสำรองการกลืนในผู้สูงอายุลดลงทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลืนลำบากยิ่งขึ้น กลไกในการกลืนในผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
คือ 1. ระยะช่องปาก ผู้สูงอายุไม่มีฟันและกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยวลดลงทำให้ใช้เวลาในการบดเคี้ยวอาหารเพิ่มขึ้นกำลังและการประสานการทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง
ทำให้กระบวนการเตรียมอาหารและการส่งผ่านอาหารใช้เวลานานขึ้นและประสิทธิภาพลดลง ต้องมีการกลืนหลายครั้งกว่าอาหารจะหมดจากช่องปากผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาหารเหลือค้างในปากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อก่อโรคเสี่ยงต่อภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก
2.ระยะคอหอยการกลืนที่คอหอยจะเกิดช้ากว่าวัยอื่นกล่องเสียงยกตัวขึ้นมารับกับฝาปิดกล่องเสียงช้าความแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยลดลงหูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดช้าทำให้อาหารอยู่ในระยะคอหอยนาน
ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดสำลักอาหารเข้าสู่ทางเดินหายใจได้จึงเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ
3 ระยะหลอดอาหาร ระยะเวลาที่หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดจะสั้นลง จึงมีอาหารเหลือค้างที่คอหอยเสี่ยงต่อการสำลักเข้าทางเดินหายใจแรงบีบไล่อาหารของหลอดอาหารลดลง
ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะไส้เลื่อนกระบังลมมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นกลไกการกลืนจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ระยะ และมีส่วนสัมพันธ์กับระบบประสาทสั่งการและการควบคุมการหายใจด้วย
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com
ได้จาก เพจ sasook
18 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 3012 ครั้ง