"เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์" เร่งขันน็อตใช้ยา “คลายกังวล” รักษาผู้สูงวัย พร้อมจัดทีมลงเยี่ยมบ้าน “ผู้ป่วยจิตเวช” เติมกำลังใจให้ผู้ป่วย และ ญาติ
"เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์" เร่งขันน็อตใช้ยา “คลายกังวล” รักษาผู้สูงวัย พร้อมจัดทีมลงเยี่ยมบ้าน “ผู้ป่วยจิตเวช” เติมกำลังใจให้ผู้ป่วย และ ญาติ
เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ 4 จังหวัด จัด 2 มาตรการบริการผู้ป่วยทางจิตที่อยู่ในพื้นที่ 7 แสนคน เพิ่มโอกาสหายขาด เน้นเข้าถึงการรักษาเร็ว ต่อเนื่อง
โดยเข้มการใช้ยาคลายกังวลอย่างสมเหตุสมผล เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ ชี้หากใช้นานเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงยาสะสม อาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เช่นพลัดตกหกล้ม และจัดทีมเจ้าหน้าที่ลงเยี่ยมบ้านรายอาการเรื้อรังรุนแรงซึ่งมีประมาณ 5,600 คน เติมกำลังใจครอบครัว สังคมปลอดภัย
เมดฮับ นิวส์ รายงานว่า ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อ.เมือง จ. นครราชสีมา นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9
ประกอบด้วย 4 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ เปิดอบรมเภสัชกรจากโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ จำนวน 30 แห่ง จัดโดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ซึ่งเป็นรพ.เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านจิตเวชประจำเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์
และให้สัมภาษณ์ว่า การอบรมครั้งนี้ เพื่อสร้างศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยทางใจ อารมณ์ พฤติกรรมหรือเรียกรวมว่าโรคจิตเวชทุกโรค ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 7 แสนคนจากประชากรทั้งเขตที่มีเกือบ 7 ล้านคน
ปัญหาการป่วยทางใจสามารถส่งผลกระทบทั้งตัวผู้ป่วยเอง ญาติ ชุมชนและสังคม ออกมาในรูปของความรุนแรง ความปลอดภัย จึงต้องจัดระบบดูแลครอบคลุมเชื่อมโยงถึงบ้านทุกพื้นที่แบบไร้รอยต่อตลอด 24 ชั่วโมง
เน้นให้เข้าถึงการตรวจรักษาโดยเร็ว เหมาะสม และต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสการหายขาดมากขึ้น ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ขณะนี้ได้กระจายการรักษา และกระจายยาจิตเวช 5 กลุ่มซึ่งเป็นตัวยาเดียวกันกับที่รพ.จิตเวชใช้ ลงไปถึงโรงพยาบาลชุมชนทั้ง4 จังหวัด รวม 89 แห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาสะดวกขึ้นและใกล้บ้านที่สุด
โดยจัดอบรมเภสัชกรเพิ่มความเชี่ยวชาญในการจ่ายยาและให้คำแนะนำเรื่องการกินยาแก่ผู้ป่วยและญาติครอบคลุมโรงพยาบาลในเขตฯแล้ว
“ในปี 2562 นี้ ได้เน้นการใช้ยาทางจิตเวชอย่างสมเหตุผลตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขด้วย ยาจิตเวชที่ใช้มากที่สุดในโรงพยาบาลขณะนี้คือกลุ่มยาคลายกังวล (Anxiolytic ) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทุกตัวมีประสิทธิภาพสูง
แต่จากผลการศึกษาการใช้ยาคลายกังวลในโรงพยาบาลชุมชนในประเทศไทย พบว่ามีการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลตามแนวทางการรักษาสากลที่กำหนด 3 ด้านสำคัญ คือข้อบ่งใช้ยา ขนาด และระยะเวลา สูงถึงร้อยละ 90
โดยไม่สอดคล้องในด้านข้อบ่งใช้ยามากกว่าร้อยละ 70 และไม่สอดคล้องด้านระยะเวลาการให้ผู้ป่วยกินถึงร้อยละ 52 การใช้ยาในกลุ่มนี้ ที่ไม่เหมาะสมและนานเกินไปโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสะสมของยา เนื่องจากความเสื่อมถอยระบบกลไกการกำจัดยาออกจากร่างกายของผู้สูงอายุ เสี่ยงเกิดอันตรายได้ เช่น พลัดตกหกล้ม กระดูกหัก เกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถ รวมทั้งทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และความจำแย่ลงได้ จึงต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามเงื่อนไขการใช้และอาการของผู้ป่วย ” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ในปีนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่
จัดทีมลงเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวเป็นกรณีพิเศษ เริ่มแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เน้นหนักในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอาการรุนแรง ซับซ้อนเช่นหวาดระแวง หลงผิด เป็นต้น
และมีอาการกำเริบ ซึ่งมักเกิดมาจากการขาดยา ขาดการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งใช้สารเสพติดเช่นยาบ้า เป็นต้น ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด
ในเขตนครชัยบุรินทร์ มีผู้ป่วยกลุ่มนี้ 5,647 คน คือที่นครราชสีมา 2,182 คน ชัยภูมิ 852 คน สุรินทร์ 1,209 คน และบุรีรัมย์ 1,404 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท มีอาการป่วยมานานกว่า 1 ปี จะเยี่ยมให้ครบทุกคน
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน
ในการเยี่ยมบ้านดังกล่าว ทีมจะประเมินอาการของผู้ป่วยใกล้ชิดขึ้น ให้ผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง มีการเฝ้าระวังอาการกำเริบซ้ำ สามารถให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงทีและปลอดภัยหากมีอาการกำเริบฉุกเฉิน
ส่วนญาติหรือผู้ดูแลจะได้รับการดูแลจิตใจ ได้รับความช่วยเหลือตามต้องการเกิดกำลังใจขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้เกิดความสำเร็จในการรักษา โดยหากผู้ป่วยกินยาได้ดี มีญาติดูแลดี จะทำให้มีอาการดี มีคุณภาพชีวิตดี
ในรายที่มีปัญหาจะเพิ่มความถี่การเยี่ยม ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งชุมชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวให้เกิดความอบอุ่น และเกิดการยอมรับเข้าใจการเจ็บป่วยทางจิตเวชดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน หลักใหญ่จะใช้ยาปรับการทำงานของสมอง ควบคุมอาการที่ผิดปกติให้อยู่ในสภาวะสงบ เสริมด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมที่หายไปขณะป่วย เพื่อคืนความเป็นคนเดิมให้ผู้ป่วยนั่นเอง
ผู้ป่วยก็จะใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน สังคมได้ไม่ต่างจากโรคเรื้อรังทางกาย โดยต้องกินยา พบแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปีงบประมาณ2562 เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่พบบ่อยในเด็กและผู้ใหญ่ 6 โรคตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข
ดังนี้ โรคจิตเภท ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 , โรคซึมเศร้า ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ,ป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และการเข้าถึงโรคติดสุราเรื้อรังเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ,โรคออทิสติก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ45 และสมาธิสั้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5
โดยการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาบรรลุเกินเป้า เช่นโรคจิตเภท ซึ่งทั้งเขตคาดมีผู้ป่วย 35,000 คน เข้าถึงการรักษาเฉลี่ยร้อยละ 84
นอกจากนี้ได้เพิ่มการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเน้นการคัดกรองในชุมชนหมู่บ้านทุกแห่ง โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
และทีม อสม. เพื่อดูแลตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณเสี่ยงหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะป่วยทางใจได้ เช่นความเครียด เป็นต้น
11 มีนาคม 2562
ผู้ชม 1912 ครั้ง