สมุนไพรป่าช้าเหงา "หมอเบญ หมอยาไทย" เตือนกิน "สมุนไพรป่าช้าเหงา" ป่าช้าหมอง หรือ หนานเฉาเหว่ย กินมั่ว เข้มข้นเกินไป ตายได้

บทความ

สมุนไพรป่าช้าเหงา "หมอเบญ หมอยาไทย" เตือนกิน "สมุนไพรป่าช้าเหงา" ป่าช้าหมอง หนานเฉาเหว่ย กินมั่ว เข้มเกินไป ตายได้

สมุนไพรป่าช้าเหงา - เตือนภัยด่วน ! สมุนไพรป่าช้าเหงา ป่าช้าหมอง หรือ หนานเฉาเหว่ย สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด หมอเบญ หมอยาไทยแห่งโรงพยาบาลอภัยภูเบศร เตือนต้องกินอย่างระวัง หากกินมั่ว เข้มข้นเกินไป อาจตาย หรือ เกิดอาการโคม่าได้ ด้าน อย.ชี้ ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ หรือปรึกษาแพทย์อย่างถูกวิธี

ล่าสุด กองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ รายงานว่า นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาให้ความสนใจในศาสตร์ด้านการแพทย์ทางเลือกเพิ่มมากขึ้น

โดยใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาโรคด้วยสรรพคุณมากมาย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากสมุนไพรวางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น

ภาพจากช่อง 9 

ตามกระแสของการให้ความใส่ใจในสุขภาพของคนในสังคม กรณี สมุนไพรป่าช้าเหงา หรือ หนานเฉาเว่ย มีผู้สนใจนำมาปลูก เพื่อกินรักษาโรคกันเป็นจำนวนมาก

ซึ่งหนานเฉาเว่ย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ ต่อมามีการนำเข้ามาปลูก และใช้กันอย่างกว้างขวางในประเทศจีน ในตำรายาจีนระบุว่า สมุนไพรดังกล่าว ใช้ในการแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการ   ปวดข้อ และพบว่า ใบสดมีสรรพคุณ ช่วยในการลดความดันเลือด และลดน้ำตาลในเลือดได้ เป็นต้น

โดยใช้ใบสดรับประทานชงน้ำดื่ม ครั้งละ 4-6 ใบ วันละ 2-3 ครั้ง และพบมีข้อห้ามใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต ดังนั้นในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอยู่ จึงไม่ควรใช้สมุนไพรดังกล่าวนี้

หรือต้องใช้ด้วยความระมัดระวังโดยอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ทางด้านสมุนไพรอย่างเหมาะสม

ปัญหาที่พบจากการใช้สมุนไพรตัวนี้ คือ การกินอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ ดังนั้น ก่อนใช้สมุนไพรใด ๆ

จึงควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบถึงวิธีใช้ที่ถูกต้อง สมุนไพรทุกชนิดมีประโยชน์ หากกินให้เป็น และไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาสมุนไพรที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง รักษาได้สารพัดโรคครอบจักรวาล

เพราะอาจได้รับอันตรายก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค

ด้าน หมอเบญ หรือ เบญจวรรณ หมายมั่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คอลัมน์นิสต์ "หมอยาไทย"  ให้ความรู้ กองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ  และ เพจ sasook  ว่า ทางสมุนไพรอภัยภูเบศร ได้เคยโพสต์ข้อความเตือนการรับประทานสมุนไพรป่าช้าเหงา ป่าช้าหมอง หรือ หนานเฉาเหว่ย

ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดว่า หากทานเข้มข้นเกินไปจะเป็นอันตรายได้ หลังปี 2561 พบผู้ป่วยชายไทย อายุ 64 ปี มีโรคประจำตัวทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561  ด้วยอาการหน้ามืด เหนื่อยมากขึ้น เหงื่อแตก ใจสั่น อ่อนแรง ซึ่งเมื่อแพทย์เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด กลับพบว่าเหลือเพียง 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

จากการซักประวัติผู้ป่วยจึงทราบว่า เพื่อนแนะนำให้ทานใบป่าช้าเหงาเพื่อลดน้ำตาลในเลือด แต่ไม่ได้บอกวิธีรับประทาน ผู้ป่วยจึงนำใบป่าช้าเหงา 10 ใบ มาต้มกับน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวนาน 1 ชั่วโมง

และเริ่มทานมาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน เป็นเวลา 7 วัน โดยรับประทานวันละ 1 แก้ว เช้า-เย็น และหยุดรับประทานไป 7 วัน จากนั้นจึงกลับมาเริ่มดื่มอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 กันยายน

กระทั่งวันที่ 18 กันยายน ผู้ป่วยได้ฉีดยาเบาหวานตอนเช้า พร้อมกับทานยารักษาเบาหวานก่อนอาหาร ร่วมกับจิบน้ำป่าช้าเหงา 3 แก้วกาแฟ

จนตอนเที่ยงมีอาการน้ำตาลตก จึงได้มาโรงพยาบาล โดยช่วงที่ดื่มน้ำป่าช้าเหงา ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อย ขาที่เคยบวมยุบลง และค่าความดันโลหิตตัวบนลดลงจากปกติที่อยู่ราว ๆ 170 มิลลิเมตรปรอท เหลือ 110 มิลลิเมตรปรอท

ภาพ ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรป่าช้าเหงา หรือ หนานเฉาเว่ย จากศูนย์สมุนไพรธรรมชาติ 

ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว เภสัชกร และ หมอเบญ หรือ เบญจวรรณ หมายมั่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ ของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร จึงได้เตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการใช้ยาสมุนไพร

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างโรคความดันโลหิต เบาหวาน ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งเป็นหลัก และต้องสังเกตความผิดปกติ ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนรับประทาน เพราะปัจจัยในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน

สำหรับสมุนไพรป่าช้าเหงานั้น หากจะรับประทานควรปฏิบัติดังนี้ กรณีกินเป็นอาหารเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น ใช้รองกระทงห่อหมกแทนใบยอ ยำดอกขจรใส่ดอกป่าช้าเหงา ควรลวกน้ำร้อนก่อนรับประทาน เพื่อลดความขมและลดฤทธิ์ยา ทานวันละ 3-5 ใบ

กรณีกินเป็นยา เช่น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือกินบำรุงร่างกาย

กินใบสด ถ้ากินใบใหญ่เท่าฝ่ามือ วันละ 1 ใบ กินบ้างหยุดบ้าง เช่น กินวันเว้นวัน หรือ 2-3 วันกินที ถ้าจะกินทุกวัน แนะนำวันละ 1-2 ใบเล็ก ๆ ติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน อาจเว้น 1 เดือน แล้วเริ่มกินใหม่

ต้มกิน ใบเท่าฝ่ามือ 3 ใบ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ต้มพอเดือด 3-5 นาที ดื่ม 250 มิลลิลิตร ก่อนอาหารเช้า วันละ 1 ครั้ง ตอนตื่นนอน กินบ้างหยุดบ้าง

ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้กินทุกวัน หรือกินต่อเนื่อง เพราะเป็นยาเย็น และห้ามใช้ป่าช้าเหงาในคนไข้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือดชื่อวาร์ฟาริน เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยา

 รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่อง ผู้ปวยเลือดจาง ส่วนผู้ที่มีควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอยู่แล้ว ไม่ควรทานเป็นยา

อย่างไรก็ตาม ผู้รับประทานควรสังเกตอาการผิดปกติด้วย หากมีอาการความดันโลหิตตก น้ำตาลตก วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น ควรหยุดรับประทานทันที - สมุนไพรป่าช้าเหงา

28 มีนาคม 2562

ผู้ชม 6103 ครั้ง

Engine by shopup.com