พายุฤดูร้อนมาแล้ว "นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน" ห่วงผู้ป่วยจิตเวชขาดยา รับยาต่อเนื่อง ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง พร้อมวางแผนให้บริการ
พายุฤดูร้อนมาแล้ว "นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน" ห่วงผู้ป่วยจิตเวชขาดยา รับยาต่อเนื่อง ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง พร้อมวางแผนให้บริการ
New ! โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา เตรียมความพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 14-18 มีนาคม 2562 สามารถจัดบริการผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างตลอด 24 ชั่วโมง
พร้อมแนะประชาชนให้ตั้งสติ และวางแผนป้องกันความสูญเสียจากภัยธรรมชาติให้ได้มากที่สุดไว้ล่วงหน้า คำนึงถึงความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก และยื่นมือช่วยปฐมพยาบาลใจเพื่อนบ้านที่ได้รับความเสียหายเบื้องต้น จะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากความสูญเสียได้ดี
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน
กองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับมือพายุฤดูร้อนที่จะเกิดในช่วงวันที่ 14-18 มีนาคม 2562 ซึ่งจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาเมื่อเช้าวันนี้ ว่า
โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ ซึ่งดูแลการจัดบริการสุขภาพจิตในพื้นที่อีสานตอนล่างในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ และเป็นพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุครั้งนี้
ได้เตรียมความพร้อมรับมือไว้ 2 ส่วนหลักตามนโยบายของกรมสุขภาพจิต คือ จัดระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินของโรงพยาบาล โดยเฉพาะที่ห้องจิตเวชฉุกเฉิน หากเกิดเหตุสามารถใช้การทดแทนได้ทันที เพื่อมิให้กระทบต่อการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชตลอด 24 ชั่วโมง
และเตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team ;MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็น พร้อมออกปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของโรงพยาบาลเครือข่ายในเขตสุขภาพที่ 9 เพื่อดูแลจิตใจประชาชน หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
พายุฤดูร้อนเป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ขอแนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดอย่างมีสติ อย่าตื่นตระหนก และให้วางแผนเตรียมความพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันการสูญเสียให้ได้มากที่สุด
โดยเน้นที่ความปลอดภัยชีวิตตนเอง-ครอบครัวเป็นอันดับแรก และความปลอดภัยทรัพย์สินรองลงมา จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ใช้ในบ้านยามฉุกเฉิน
เช่นไฟฉาย เทียนไข ผู้ที่มีโรคประจำตัวรวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชด้วยขอให้ญาติช่วยดูแลจัดเก็บยาไว้ในที่ปลอดภัย หยิบฉวยได้ง่าย
กรณีที่มีสถานการณ์และมีผู้ได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ ขอแนะนำให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นเครือญาติหรือเพื่อนบ้าน ช่วยกันยื่นมือปฐมพยาบาลดูแลจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นก่อนที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐจะมาถึง โดยมีหลักปฏิบัติเพียง 3 ข้อดังนี้ คือ
1. ให้สอดส่องมองหาผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 2.ใส่ใจรับฟังทุกข์ในใจ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกและคลายความทุกข์ใจออกมา จะช่วยให้อารมณ์สงบและสบายใจขึ้น
และ 3.คือการให้ความช่วยเหลือสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้กัน เช่น น้ำ อาหาร ยา จะช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนในเบื้องต้น ประการสำคัญจะส่งผลดีต่อขวัญกำลังใจของผู้ประสบภัย มีพลังใจเข้มแข็งขึ้น
สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดมาจากความสูญเสีย เช่นเครียด ซึมเศร้าได้ดี
สายด่วนสุขภาพจิต 1323
หากผู้ประสบภัยยังไม่สบายใจ ก็จะมีขั้นตอนช่วยเหลือต่อโดยปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
17 เมษายน 2562
ผู้ชม 2208 ครั้ง