"วันดาวน์ซินโดรมโลก" จิตเวชนครราชสีมา มีวิธีช่วยพ่อแม่ที่มีลูกเกิดใหม่เป็นดาวน์ซินโดรม เผยสังคมเข้าใจเลิกเรียก "เอ๋อเหรอ"
"วันดาวน์ซินโดรมโลก" จิตเวชนครราชสีมา มีวิธีช่วยพ่อแม่ที่มีลูกเกิดใหม่เป็นดาวน์ซินโดรม เผยสังคมเข้าใจเลิกเรียก "เอ๋อเหรอ"
วันดาวน์ซินโดรมโลก - วันที่ 21 มีนาคม ทุกปี เป็นวันดาวน์ซินโดรมโลก ล่าสุด เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ รายงานว่า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เผยมีวิธีช่วยพ่อแม่ที่มีลูกเกิดใหม่เป็นดาวน์ซินโดรม
โดยแนะให้รีบกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกาย ภาษา อารมณ์ และสังคม เริ่มตั้งแต่วัยแบเบาะอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้ความรักความอบอุ่น เล่นกับลูกให้ลูกสนุก จะช่วยส่งเสริมให้ศักยภาพในตัวเด็กดีขึ้น ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติ เรียนหนังสือ ทำงานและประกอบอาชีพได้
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ ( 21 มีนาคม 2562 ) องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันดาวน์ซินโดรมโลก ( World Down’s Syndrome Day )
เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันปัญหา และการยอมรับผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรม ให้อยู่ในสังคมได้ พร้อมทั้งเผยแพร่ศักยภาพและความสำเร็จของบุคคลที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมทั่วโลกในวงกว้างขึ้น โดยในปีนี้ เน้นประเด็นคือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ( Leave no one behind )
สาเหตุของดาวน์ซินโดรม เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมของเซลล์คู่ที่ 21 ทำให้เด็กมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดทั้งรูปร่างหน้าตา และอวัยวะอื่น ๆ มีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา องค์การอนามัยโลกรายงานมีเด็กเกิดใหม่เป็นเด็กดาวน์ซินโดรมปีละ 3,000-5,000 คน
โดยพบได้ 1 คน ต่อเด็กเกิดใหม่มีชีวิตทุก 800 คน ในส่วนของประเทศไทยจะพบเด็กเกิดใหม่เป็นเด็กดาวน์ซินโดรมได้ 1-2 คนต่อวันจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่มีวันละประมาณ 1,700 คนทั่วประเทศ
“โรคนี้ไม่มียารักษาให้หายขาด วิธีการดูแลที่สำคัญที่สุดที่ถือว่าเป็นยาขนานเอกของเด็กกลุ่มนี้ คือการช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งร่างกาย ภาษา อารมณ์ และสังคมให้เด็ก
โดยพ่อแม่ต้องเริ่มให้เร็วที่สุดตั้งแต่วัยแบเบาะ ทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ให้พ่อแม่เป็นเพื่อนเล่นคนแรก แค่เล่นกับลูกให้ลูกสนุก จะส่งผลให้ศักยภาพ
ในตัวเด็กดีขึ้น เด็กจะสามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ เล่นกับเด็กปกติอื่น ๆ ได้ เรียนได้ตามศักยภาพ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้มักจะเลี้ยงง่าย อารมณ์ดีเป็นทุนอยู่แล้ว” นายแพทย์กิตต์กวี กล่าว
ในการดูแลสุขภาพของเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม จะต้องดูแลด้านพัฒนาการ จิตใจ อารมณ์ สังคม ควบคู่กับการดูแลสุขภาพกายเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กจะมีความผิดปกติหลายเรื่อง อาทิ หัวใจพิการแต่กำเนิด พบได้ร้อยละ 40-60 การได้ยินผิดปกติร้อยละ 75 ความผิดปกติระบบประสาท
เช่นเกิดโรคลมชักพบได้ประมาณร้อยละ 14 เป็นต้น หากได้รับการดูแลดี เด็กก็จะมีอายุยืนยาวขึ้น โดยในส่วนของการดูแลด้านจิตและสังคม รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้เพิ่มศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในการประเมินคัดกรองและช่วยเหลือเบื้องต้น
และได้เชื่อมโยงบริการกับโรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 คือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อให้เด็กสามารถใช้บริการใกล้บ้าน โดยมีรพ.มหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมาเป็นศูนย์เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ
สำหรับ เด็กๆ ที่เกิดใหม่เป็นดาวน์ซินโดรมในสังคมปัจจุบันพบว่า สังคมไทยมีความเข้าใจต่อ โรคดาวน์ซินโดรมมากขึ้นกว่าในอดีต
เนื่องจากการเข้าถึงการรักษา ซึ่งที่ผ่านมามักจะเรียกเด็กดาวน์ซินโดรมว่า เอ๋อเหรอ หรือ เด็กปัญญาอ่อน ( mental retardation ) เป็นต้น
21 มีนาคม 2562
ผู้ชม 3221 ครั้ง