คนพิการก็มีหัวใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สาธารณสุข จับมือ พัฒนาสังคม ยกระดับ คุณภาพชีวิตคนพิการ ผุดศูนย์บริการโรงพยาบาล 32 แห่ง

บทความ

คนพิการก็มีหัวใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สาธารณสุข จับมือ พัฒนาสังคม ยกระดับ คุณภาพชีวิตคนพิการ ผุดศูนย์บริการโรงพยาบาล 32 แห่ง

News Update 3 เมษายน 2019 – สกู๊ปคนพิการก็มีหัวใจ : ตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560-2564

กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง ดำรงชีวิตอิสระ ในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน" ภายใต้แผนนี้ยังถูกบรรจุในกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ภายใต้แนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ และ เพจ sasook รายงานว่า  วันนี้ (3 เมษายน 2562) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กทม. นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือระดับนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน

โดย ทาง กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญกับผู้พิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 2 กระทรวงจะพัฒนาศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำร่องทั้ง 32 แห่ง อำนวยความสะดวกคนพิการในชุมชนเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายกำหนด

ได้รับการดูแลรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟู และให้บุคลากรของโรงพยาบาล นิสิตนักศึกษาที่มาฝึกอบรมในโรงพยาบาล มีความรู้ความเข้าใจ สามารถทํางานกับคนพิการ

นำผลวิจัยไปพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้คนพิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 และ 35

เกิดการรวมกลุ่ม ชมรม หรือสมาคม เป็นต้นแบบให้กับศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในชุมชน ที่จัดตั้งโดยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และองค์กรด้านคนพิการ

ปัจจุบันมีผู้พิการได้รับการจ้างงานใน รพ.ทั้ง 32 แห่ง ใน 22 จังหวัด แบ่งเป็น โรงพยาบาลชุมชน 29 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 3 แห่ง จำนวนประมาณ 150 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนประมาณ 20 แห่ง

ทั้งนี้ หลักการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุขมี 3 ลักษณะดังนี้ 1.การจ้างงานตามมาตรา 33 โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ้างเอง

สามารถจ้างคนพิการได้ทุกประเภท แบบเต็มเวลาเป็นลูกจ้างประจำ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหรือรายวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลาการจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี  2.การจ้างตามมาตรา 35 โดยกระทรวงสาธารณสุขจ้างเอง

เช่น การให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ  การจัดสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ

การจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงานแก่คนพิการให้มีความรู้ ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น

และ 3.การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 โดยสถานประกอบการภาคเอกชน ตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อให้คนพิการเข้าปฏิบัติงาน

ซึ่งมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรมส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ เป็นผู้ประสานงาน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ระบุว่า การบูรณาการดำเนินการระหว่างหน่วยงานยังต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิทธิ สวัสดิการ บริการสาธารณะ และความช่วยเหลือจากรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ตาม แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560-2564 กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง ดำรงชีวิตอิสระ ในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน"

แผนนี้ยังถูกบรรจุในกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ภายใต้แนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนี้ มีเป้าเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ

รวมทั้งการเรียนรวมอย่างเช่น ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ปรับปรุงระบบดูแลสุขภาพคนพิการ การรักษาพยาบาล อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ

หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องจัดสภาพแวดล้อม การเดินทาง และบริการสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม

อีกทั้งต้องมีการออกกฎหมายว่าด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

ภาพ กพ.

03 เมษายน 2562

ผู้ชม 2082 ครั้ง

Engine by shopup.com