“ดร.ต้อม สุภาภรณ์” ยืนยัน “กัญชา” อยู่ในวิถีไทยมานาน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แนะ "รู้จักให้ดี ก่อนใช้เพื่อให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด"
“ดร.ต้อม สุภาภรณ์” ยืนยัน “กัญชา” อยู่ในวิถีไทยมานาน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แนะ "รู้จักให้ดี ก่อนใช้เพื่อให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด"
News Update : หลังจาก นายเนวิน ชิดชอบ ประกาศชัดเจน สนับสนุนแนวนโยบายกัญชา
โดยการใช้รูปแบบแคลิฟอร์เนียโมเดล เป็นการเปิดเสรี งานวันกัญชาโลก จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในประเทศไทยครั้งนี้
คาดว่าจะก่อเกิดกระแสการเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งงานพันธุ์บุรีรัมย์จัดขึ้น 19-21 เม.ย. ซึ่งตรงกับ วันกัญชาโลก คือ วันที่ 20 เมษายน 2562
รวมทั้ง งาน Thailand Medical Marijuana 2019 จากองค์กรเอกชน เครือข่ายผู้เชียวชาญการบริการ และธุรกิจในอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์ หรือ Thailand Medical Marijuana ที่จะจัดในวันที่ 20 เมษายน 2562 นี้
ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หรือ ดร.ต้อม
ล่าสุด กองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ และ เพจ sasook รายงานว่า ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หรือ ดร.ต้อม เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว Supaporn Pitiporn บอกกล่าวถึงสรรพคุณของกัญชา
ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาไทย ว่า เมื่อต้องการใช้เพื่อการผ่อนคลาย จะใช้การสูบ ไม่ดองเหล้ากินหรือต้มกินเพราะ กัญชาเมื่อได้รับความร้อนสาร THCA จะเปลี่ยนเป็นสารเมาชื่อ THC
สารนี้ ถ้าเข้าสู่ร่างกายจะผ่านตับ ฤทธิ์เมาจะแรงขึ้น ใช้เวลานานกว่าจะออกฤทธิ์ ฤทธิ์จะอยู่นาน และการสูบนั้นจะทำให้ THC ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง
และออกฤทธิ์เพลิดเพลินรวดเร็วภายใน 20-30 นาที และจะหมดฤทธิ์เร็วประมาณ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งจะต่างจากการดื่มหรือกินตรงที่
สำหรับการกินจะทำให้ THC ถูกเมทาบอไลท์ที่ตับและเปลี่ยนเป็น 11-OH-THC ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าตัว THC ถึง 3-7 เท่า แต่จะใช้เวลาในการออกฤทธิ์ที่ช้ากว่า
ผู้ใช้จะรู้สึกได้หลังจากกิน 30-90 นาที และรู้สึกมากที่สุดอยู่ที่ 2-4 ชั่วโมง เกิดเป็นอาการเมาค้างอยู่นานและหมดฤทธิ์ที่ประมาณ 6 ชั่วโมง
“กัญชามีอยู่ในวิถีไทยมานานแต่สมัยก่อนเรารู้จักพืชชนิดนี้ดี รู้ว่าจะกินใช้อย่างไร ปัจจุบันในการนำกลับมาใช้ คนไทยควรต้องรู้จักให้ดีก่อนเช่นกันและหาวิธีนำมาใช้ เพื่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมให้น้อยที่สุด”
ทั้งนี้ ดร.สุภาภรณ์ ได้ใช้ภาพประกอบซึ่ง นางสาวนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้รวบรวมมาจากจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนไว้ตามที่ต่าง ๆ เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา พร้อมคำบรรยาย ถึงที่มาไว้ด้วย
ลิงอัดกัญชาอย่างเมามันในกองทัพพระราม จิตรกรรมรามเกียรติ์ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ เขียนไว้เมื่อประมาณ ๘๐ ปีก่อน
ลิงในกองทัพพระรามสูบกัญชาครึกครื้น บ้องกัญชามี “บัวผัน” (พวย) เสียบอยู่ไว้ใส่กะเต็นจุดไฟวาบๆให้สูบได้มันส์พะย่ะค่ะ จิตรกรรมที่วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ เขียนไว้เมื่อเกือบ ๑๐๐ ปี
หนุ่มอัดกัญชา ในจิตรกรรมรามเกียรติ์ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯเขียนไว้เมื่อประมาณ ๘๐ ปีก่อน
หนุ่มเมืองเพชรกำลังสูดควันกัญชาอย่างจดจ่อตั้งใจไม่มีว่อกแว่ก มือซ้ายถือของแหลมคอยช่วยแหย่พวยบ้องไม่ให้ตัน ข้างหน้าวางเขียงไม้ข่อยรอหั่นกัญชาไว้ยัดเพิ่มลงบ้อง
ทางด้านขวามีอีกหนุ่มทำท่าน้ำลายหก ขณะเทน้ำตาลเมาไหลพลั่กๆลงกะลามะพร้าว จิตรกรรมสีฝุ่นจากผนังวิหารวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี ฝีมือครูเลิศ พ่วงพระเดช เขียนขึ้นเมื่อ ๙๐ ปีก่อน ระหว่างพ.ศ.๒๔๖๔-๒๔๖๖ สมัยรัชกาลที่ ๖
นี่ก็เล่นกัญชากันอย่างเพลิดเพลิน วิถีชีวิตหนุ่มพื้นบ้านเชื้อสายมอญ จิตรกรรมจากวัดม่วง จ.ราชบุรี ถ่ายภาพไว้เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗
ภาพเขียนรัวรางยังมองเห็นสองหนุ่มล่อกัญชา มีฉากหลังเป็นหนุ่มสาวเปลื้องผ้ากำลังเพลิดเพลินไปอีกแบบ จิตรกรรมคอสอง บนศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ถ่ายภาพไว้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
ภาพเขียนเมียกุมขยับในยามที่ผัวพี้กัญชา จิตรกรรมบนศาลาการเปรียญที่วัดนาพรม .เพชรบุรี
จิตรกรรมวัดพระแก้ว เขียนไว้เมื่อราว ๘๐ ปีก่อน บันทึกภาพชายสยามล่อกัญชาด้วยกันอย่างเมามันอยู่ริมกำแพงวัด กำแพงวังถ่ายภาพไว้เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖
หนุ่มชาวบ้านเมืองเพชรกำลังอัดกัญชาอย่างสุขสม มีมีด เขียง วางตรงหน้า และมีเพื่อนเมาหลับเค้เก้อยู่ข้างๆ จิตรกรรมคอสอง ศาลาการเปรียญ วัดจันทราวาส จ.เพชรบุรี ฝีมือครูหวน ตาลวันนา เขียนไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๖ ประมาณปีพ.ศ.๒๔๖๐ หรือประมาณ ๙๖ ปีที่แล้ว ถ่ายภาพไว้เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
หนุ่มเมืองเพชรนั่งสะลึมสะลือสุขสม อยู่ข้างมีดหั่นกัญชาและมี “ตุ้งก่า” หม้อสำหรับสูบกัญชาเสียบพวยแหลม วางอยู่ข้างๆ จิตรกรรมคอสอง ศาลาการเปรียญวัดเกาะแก้วสุทธาราม จ.เพชรบุรี
สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๑ ส่วนภาพจิตรกรรมคอสองไม่ระบุปีที่สร้าง ทราบแต่ว่าเขียนขึ้นโดยฝีมือครูช่างใหญ่ ๒ ท่านคือพ่อละมุด และครูหวน ตาลวันนา เมื่อประมาณร่วมร้อยปี
10 พฤษภาคม 2562
ผู้ชม 3250 ครั้ง