อย. งัดมาตรการ "ลดภาษีนำเข้ายากำพร้า" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึง "ยาจำเป็นที่ขาดแคลน"
อย. งัดมาตรการ "ลดภาษีนำเข้ายากำพร้า" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึง "ยาจำเป็นที่ขาดแคลน"
News Update วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 : การขาดแคลนยาจำเป็นเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ในปี พ.ศ. 2537 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา
และได้นิยาม ยาจำเป็น ที่มีปัญหาการขาดแคลนว่า “ยากำพร้า” มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดรูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมามีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยากำพร้าและออกประกาศรายชื่อยากำพร้า
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชงมาตรการขอยกเว้นภาษีนำเข้ายาจำเป็นที่มีปัญหาขาดแคลน
ซึ่ง อย. ประกาศเป็นยากำพร้า เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการจัดหายากำพร้า
กองบรรณาธิการ medhubnews.com รายงานว่า ครม.ได้อนุมัติยกเว้นภาษีนำเข้ายากำพร้าแล้ว ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งจัดทำประกาศคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการรักษาและสิทธิของประชาชน จึงเร่งแก้ไขปัญหายาจำเป็นที่มีปัญหาขาดแคลนหรือมีแนวโน้มจะขาดแคลน
เช่น ยาต้านพิษ ยารักษาโรคมะเร็ง ยาต้านจุลชีพ ยาช่วยชีวิต เป็นต้น โดยประกาศเป็นยากำพร้า อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้มีแนวโน้มขาดแคลนอย่างต่อเนื่องเพราะมีจำนวนผู้ใช้น้อย ผู้ประกอบการจึงไม่สนใจผลิตหรือทำการตลาด
เนื่องจากอัตราการใช้ยาต่ำ กระทรวงการคลังจึงให้ความเห็นชอบและได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเว้นภาษีนำเข้ายากำพร้า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562
ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งจัดทำประกาศเพื่อยกเว้นภาษีนำเข้ายากำพร้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2562
มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้องค์การเภสัชกรรมและผู้ประกอบการเอกชนที่สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดหายากำพร้า ลดภาระต้นทุน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาจำเป็นได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้พัฒนาเว็บไซต์ยากำพร้าและยาขาดแคลนอย่างบูรณาการ ( http://drugshortages.nhso.go.th ) ขึ้น
โดยความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์การเภสัชกรรรม หากสถานพยาบาลรัฐที่ประสบปัญหาขาดแคลนยาจำเป็นสามารถรายงานและติดตามปัญหาได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าว หรือทำหนังสือมายังศูนย์ประสานงานเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยาของ อย.
การยกเว้นภาษีนำเข้ายากำพร้าเป็นมาตรการสำคัญหนึ่งที่จะช่วยเหลือองค์การเภสัชกรรมและผู้ประกอบการเอกชนลดต้นทุนที่แบกรับในการจัดหายาจำเป็นที่มีปัญหาขาดแคลน
ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าถึงยาจำเป็นและทำให้ระบบยาของประเทศมีความมั่นคงยิ่งขึ้น
11 พฤษภาคม 2562
ผู้ชม 1225 ครั้ง