อึ้ง ผู้ป่วยโรคจิตเภท ฆ่าตัวตาย สูงสุด เหตุหูแว่ว ประสาทหลอน ทุกข์ทรมาน ได้ยินเสียงคนสั่งให้ฆ่าตัวตาย
อึ้ง ผู้ป่วยโรคจิตเภท ฆ่าตัวตาย สูงสุด เหตุหูแว่ว ประสาทหลอน ทุกข์ทรมาน ได้ยินเสียงคนสั่งให้ฆ่าตัวตาย
News Update วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 62 : #โรคซึมเศร้า สถิติผู้ป่วยจิตเภท 2561 รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เผย โรคจิตเภท เป็นการเจ็บป่วยทางจิตที่รุนแรงมีปัญหาฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 15 เสี่ยงทำร้ายตัวเองสูงกว่าคนทั่วไป 12 เท่าตัว
เนื่องมาจากอาการจิตหลอน หูแว่วของตัวเอง เร่งป้องกันโดยพัฒนาเทคโนโลยีชื่อ “เจวีเคเอสทูไฟว์” เป็นแบบคัดกรอง 5 สัญญานอาการหูแว่วและความคิดที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ผลการทดลองใช้ในรพ.จิตเวชฯให้ผลป้องกันได้ดี
เตรียมขยายผลใช้ในโรงพยาบาลและชุมชนทุกแห่งในพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ในปีหน้า เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ รายงานว่า นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา
ให้สัมภาษณ์ว่าวันที่ 24 พฤษภาคมทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น วันจิตเภทโลก ( World Schizophrenia Day )
โรคจิตเภท เป็นการเจ็บป่วยทางจิตที่รุนแรงเรื้อรังพบมากที่สุดประมาณร้อยละ 70 ในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตทั้งหมด สาเหตุเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทั้งความคิด
การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงทำให้มีอาการมีหูแว่วและประสาทหลอน เกิดความทุกข์ทรมาน ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดช่วงชีวิตของประชาชนจะพบอัตราป่วยโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1 มักพบในช่วงอายุ 15-35 ปี ในพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9
ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ คาดจะมีผู้ป่วยประมาณ 35,000 คน อัตราการเข้าถึงบริการขณะนี้สูงขึ้น ครอบคลุมผู้ป่วยร้อยละ 83
“ปัญหาสำคัญที่พบในผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ต้องเร่งแก้ไขป้องกันขณะนี้คือ การฆ่าตัวตาย จากการวิเคราะห์ข้อมูลการฆ่าตัวตายในประเทศที่มีปีละประมาณ 4,000 ราย
พบว่าร้อยละ 15 เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท โดยผลวิจัยทั่วโลกพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความเสี่ยงทำร้ายตัวเองสูงกว่าคนทั่วไป 12 เท่าตัว
สาเหตุเกิดมาจาก อาการหูแว่ว และ ประสาทหลอนของผู้ป่วยเอง เช่น ได้ยินเสียงคนสั่งให้ฆ่าตัวตาย ดุด่าอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะที่พบเฉพาะผู้ป่วยทางจิต และบางรายอาจมีประวัติพยายามทำร้ายตัวเองด้วย” นายแพทย์กิตต์กวี กล่าว
ด้าน พญ.กรองกาญจน์ แก้วชัง รองผู้อำนายการด้านการแพทย์ และประธานทีมนำทางคลินิก ของโรงพยาบาลฯ กล่าวว่า จากการทบทวนหารากเหง้าของปัญหาการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคจิตเภท
พบว่าขาดเครื่องมือในการคัดกรองความเสี่ยงการฆ่าตัวตายที่เกิดจากอาการทางจิตโดยเฉพาะ และใช้เครื่องมือที่ไม่ตรงกับโรค รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จึงได้เร่งป้องกันปัญหา
โดยพัฒนาเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า เจวีเคเอสทูไฟว์ ( JVKss5 ) เป็นแบบสัมภาษณ์คัดกรองสัญญาณอาการหลอนทางจิตของผู้ป่วยโรคจิตเภทและโรคจิตที่เสี่ยงฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองเป็นการเฉพาะ
ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีใช้มาก่อน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ประกอบด้วย 5 คำถามสั้นๆ เกี่ยวกับอาการหูแว่ว และความคิดที่ผิดปกติของผู้ป่วยว่ามีหรือไม่
ดังนี้ 1.มีเสียงสั่งให้ไปตาย/ทำร้ายตนเอง และ2.มีเสียงด่า ว่า ตำหนิ รุนแรง จนคิดถึงการทำร้ายตนเอง 3.กลัวคนทำร้าย หรือกลัวเสียงแว่ว หรือกลัวภาพหลอนที่เห็นเองคนเดียว 4. คิดว่าตนเองเป็นคนชั่ว เลว บาป อภัยไม่ได้
และ 5.คิดว่ามีคนมาควบคุมให้ทำร้ายตนเอง รวมทั้งถามประวัติพฤติกรรมการทำร้ายตนเองในอดีตและในสองอาทิตย์ที่ผ่านมาประกอบด้วย
ในการแปลผลความเสี่ยงจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือระดับน้อย คือไม่มีอาการทางจิต ระดับปานกลางคือมีอาการทางจิตแต่ผู้ป่วยยังทนได้ และระดับมากคือมีอาการทางจิตและผู้ป่วยควบคุมอาการตัวเองไม่ได้
ผลทดลองใช้กับผู้ป่วยจิตเภทที่แผนกห้องฉุกเฉินในรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯนอกเวลาราชการในปี 2560 จำนวน 480 คน พบผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับน้อยคือไม่มีอาการทางจิตจำนวน 324 คนสามารถให้ยากลับไปรับประทานที่บ้านได้
และพบมีอาการทางจิตระดับปานกลางและมาก จำนวน 156 คนหรือร้อยละ 33 แพทย์ได้รับตัวไว้ดูแลในโรงพยาบาล จัดระบบดูแลเฝ้าระวังป้องกันเป็นพิเศษและใช้แบบสัมภาษณ์นี้ประเมินซ้ำอย่างต่อเนื่อง
พบว่าผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองด้วย “เจวีเคเอสทูไฟว์” ไม่พบว่าฆ่าตัวตายสำเร็จจากอาการทางจิต
ปี2562 นี้ได้ขยายผลใช้แบบคัดกรองที่กล่าวมาทั้งที่แผนกห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยในทุกหอ
ซึ่งมีผู้ป่วยจิตเภทอาการรุนแรงพักรักษาฟื้นฟูเฉลี่ยเดือนละ 140 คนหรือเกือบครึ่งของผู้ป่วยในทั้งหมด พบว่าการใช้ง่าย ได้ผลดีมาก
สามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และยังได้ขยายผลใช้ป้องกันในเรือนจำ 12 แห่งในเขตสุขภาพที่ 9 ด้วย โดยจะประเมินผลแบบคัดกรองในปลายปีนี้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ
จากนั้นจะขยายผลใช้ในรพ.และชุมชนทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 9 ในปีหน้านี้ เพื่อเป็นแนวทางดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทและผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตที่เสี่ยงฆ่าตัวตายเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งเขต
ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ในระดับประเทศได้เช่นกัน มั่นใจว่าจะทำให้จำนวนผู้ฆ่าตัวตายจากสาเหตุอาการทางจิตลดลง
คำค้นหา โรคจิตเภท , สายด่วน1323 , สายด่วนจิตเวช , สายด่วนกรมสุขภาพจิต , สายด่วนสุขภาพจิต 1323 , สายด่วนสุขภาพจิต 1300 , สถิติผู้ป่วยจิตเภท 2561 , 1323 สายด่วน , ทำไมรู้สึกใจหาย , อาการใจหาย , #โรคซึมเศร้า , โรคซึมเศร้า
31 พฤษภาคม 2562
ผู้ชม 3755 ครั้ง