จิตแพทย์พบหลักฐานเชิงประจักษ์ "น้ำมันกัญชา" ไม่รักษาโรคทางจิตเวช แต่จะก่อโรคเพิ่ม ทั้ง ซึมเศร้า หูแว่ว เว็บไซต์เกี่ยวกับสุขภาพ

บทความ

จิตแพทย์พบหลักฐานเชิงประจักษ์ "น้ำมันกัญชา" ไม่รักษาโรคทางจิตเวช แต่จะก่อโรคเพิ่ม ทั้ง ซึมเศร้า หูแว่ว หวาดระแวง

News Update  : กรมสุขภาพจิต เป็นห่วงประชาชนชาวไทยเกิดผลข้างเคียงจากการใช้น้ำมันกัญชา โดยมีความเชื่อไม่ถูกต้อง และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่เข้าใจการใช้งาน

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสมองของผู้ใช้โดยตรง ในระยะยาวจะทำให้เสี่ยงต่ออาการทางจิตเวชเรื้อรังมากขึ้นได้ การใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น

จึงควรใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์หรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ รายงานว่า วันนี้ ( 29 พฤษภาคม 2562 ) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการติดตามการตอบสนองของประชาชนในสื่อช่องทางต่างๆ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

พบว่า ประชาชนชาวไทยให้ความสนใจกับน้ำมันกัญชามากขึ้น ทั้งในแง่การใช้งานและการรับรู้ข่าวสารทางสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลต่างๆเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์และผลข้างเคียงจากการใช้อย่างไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ประชาชนจำนวนมากสามารถเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์และผลข้างเคียงจากการใช้น้ำมันกัญชารักษา แต่ในขณะเดียวกันก็มีความไม่เข้าใจต่อวิธีการใช้งานและมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้น้ำมันกัญชาสกัดปะปนอยู่ด้วย

จึงปรากฏเป็นข่าวผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้งานน้ำมันกัญชาสกัดอย่างไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะนี้ทางด้านสุขภาพจิตมีเพียงหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์เพียงเล็กน้อยที่ยังต้องรอการวิจัยเพิ่มเติมในการรักษาโรคจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล และยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือที่สามารถยืนยันประโยชน์จากการใช้งานกัญชา  

และสารสกัดจากกัญชาในแง่การรักษาโรคทางจิตเวชอื่นๆ ทั้งหมด เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท และโรคจิตเวชในเด็ก ในทางกลับกัน การใช้สารสกัดจากกัญชาที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการควบคุมดูแลการใช้งานอย่างเหมาะสม

หรือการใช้กัญชาเพื่อความรื่นเริงนั้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อสมองของผู้ใช้โดยตรง ในระยะยาวจะทำให้เสี่ยงต่ออาการทางจิตเวชมากขึ้น

เช่น อารมณ์ซึมเศร้า หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวง มีโอกาสเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงขึ้น และทำให้อาการจิตเวชที่มีอยู่เดิมแย่ลงอย่างมาก

หากนำไปใช้ในเด็กและเยาวชนจะกระทบกระเทือนการพัฒนาทางสมองของเด็กอย่างรุนแรงและแก้ไขได้ยาก

การใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จึงควรใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์หรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น  

ไม่ควรใช้เพียงเพราะความเชื่อส่วนตัวหรือจากการรับข้อมูลข่าวสารที่แชร์ตามโลกโซเชียลโดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยัน การนำมาใช้งานอย่างไม่ถูกวัตถุประสงค์ ใช้งานเกินจริง ใช้เพื่อความบันเทิง และปราศจากการควบคุม ย่อมส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อตนเอง สังคม

และประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชา เพื่อบรรเทาโรคของตนเองและครอบครัว ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการใช้สารสกัดจากกัญชาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยสูงสุด

โดยกรมสุขภาพจิตกำลังดำเนินการศึกษาวิจัยประโยชน์และอันตรายจากสารสกัดจากกัญชาในด้านสุขภาพจิตต่อไปอีกด้วย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

02 มิถุนายน 2562

ผู้ชม 2505 ครั้ง

Engine by shopup.com