“รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเลิกใช้เตาไมโครเวฟ ก่อนสิ้นปีนี้" ข่าวชัวร์ หรือ มั่ว สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ มีคำตอบ
“รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเลิกใช้เตาไมโครเวฟ ก่อนสิ้นปีนี้" ข่าวชัวร์ หรือ มั่ว สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ มีคำตอบ
News Update วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 62 : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้กลไกการทำงานของเตาไมโครเวฟ ใช้คลื่นไมโครเวฟผ่านเข้าไปในโมเลกุลของน้ำในอาหารทำให้เกิดความร้อน ไม่มีรังสีเกิดขึ้น
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ รายงานว่า นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลทางสังคมออนไลน์ว่า
“รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเลิกใช้เตาไมโครเวฟก่อนสิ้นปีนี้ ประชาชนทุกหน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติ ตามข้อกำหนดจะต้องถูกปรับและอาจติดคุก
เหตุผลที่ห้ามเตาไมโครเวฟในดินแดนอาทิตย์อุทัยเป็น งานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา พวกเขาค้นพบคลื่นที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากกว่า 20 ปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเตาไมโครเวฟ ซึ่งอันตรายร้ายแรงกว่าระเบิดปรมาณู ที่ ฮิโรชิมา และ นางาซากิ ในปี ค.ศ. 1945 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาหารที่อุ่นในเตาไมโครเวฟนั้นมีการสั่นสะเทือนและการแผ่รังสีที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ
ในปี ค.ศ. 2021 การผลิตเตาไมโครเวฟจะหยุดลง ส่วนเกาหลีใต้ และจีนวางแผนจะโละทิ้งในปี ค.ศ. 2023” ข้อความในสังคมออนไลน์ดังกล่าวนั้นเป็นข่าวปลอมที่ก่อให้เกิดความสับสน
ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ขอให้ข้อเท็จจริงดังนี้ หลักการทำงานของเตาไมโครเวฟเป็นการใช้คลื่นไมโครเวฟผ่านเข้าไปในอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดการสั่นของโมเลกุลของน้ำในอาหาร
เมื่อโมเลกุลของน้ำสั่นจะเกิดความร้อนขึ้น จนทำให้อาหารสุก จะเห็นว่ากลไกการทำงานไม่มีรังสี เกิดขึ้นเลย จึงไม่มีการตกค้างของรังสีใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้นเรื่องราว ในสื่อออนไลน์นี้จึงไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ อันตรายที่กล่าวอ้างไม่เป็นความจริง เมื่อท่านใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหารเสร็จ ควรเปิดประตูเครื่อง คลื่นไมโครเวฟก็หมดไปไม่มีการตกค้าง
โดยปกติเตาไมโครเวฟที่ได้มาตรฐานมีเครื่องหมาย มอก. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะมีความปลอดภัยสูง คลื่นไมโครเวฟที่ออกมาจากเตาไมโครเวฟนั้น เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดการแตกตัว
ไม่ทำให้โมเลกุลของสารเปลี่ยน และไม่มีการตกค้างจึงไม่มีอันตราย อีกทั้งมีโอกาสน้อยมากที่เตาไมโครเวฟจะมีคลื่นรั่วออกมาเกินจากระดับมาตรฐาน มอก.1773-2542 กำหนด (ที่ระยะ 5 เซนติเมตรจากผิวเตารั่วได้ไม่เกิน 5 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร)
ทั้งนี้อันตรายที่เกิดขึ้นได้นั้น มักจะเกิดจากเตาไมโครเวฟที่มีความเก่ามากๆ เป็นสนิมผุ วัสดุเคลือบลอก บานพับประตูชำรุด หรือกระจกแตก ซึ่งอาจมีคลื่นไมโครเวฟรั่วออกมา
หากมีความเข้มข้นพอจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวได้ และบางคนที่ชอบเอาหน้า ไปใกล้ๆ เตาไมโครเวฟเพื่อดูอาหารก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรเข้าใกล้เตาไมโครเวฟ ขณะเครื่องกำลังทำงาน
“เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟไม่สามารถมองเห็นได้และไม่มีกลิ่น ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัด สำหรับประชาชนที่สนใจจะตรวจสอบการรั่วของเตาไมโครเวฟ สามารถนำเตาไมโครเวฟมาตรวจได้ที่ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
หรือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตต่างๆ ทั่วประเทศ ในเวลาราชการ สำหรับเตาไมโครเวฟที่ผ่านการตรวจรับรองความปลอดภัย
จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ ติดที่เตาไมโครเวฟเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความปลอดภัย” นายแพทย์โอภาส กล่าว
11 มิถุนายน 2562
ผู้ชม 13675 ครั้ง