“โรคไข้เลือดออก” วิกฤต ยุงลายตัวดี แพทย์แผนไทยแนะใช้สมุนไพรพื้นบ้านไล่ยุง ป้องกันโรคมรณะ
“โรคไข้เลือดออก” วิกฤต ยุงลายตัวดี แพทย์แผนไทยแนะใช้สมุนไพรพื้นบ้านไล่ยุง ป้องกันโรคมรณะ
เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข , เว็บไซต์สุขภาพ , สรรพงศ์ ฤทธิรักษา , กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก , 6สมุนไพรไล่ยุง , ประโยชน์ของสมุนไพรไล่ยุง , นวัตกรรมสมุนไพรไล่ยุง , ขายสมุนไพรไล่ยุง , สเปรย์สมุนไพรไล่ยุง ฉบับภูมิปัญญาไทย , มะนาวไล่ยุง , ก้อนสมุนไพรไล่ยุง , บทความ สมุนไพร ไล่ ยุง
News Update วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 62 : หลังจากออกมาเตือน “โรคไข้เลือดออก” วิกฤต ดูแลเด็กป่วยไข้เลือดออกใกล้ชิด หากไข้ลงแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาลทันที ล่าสุด เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ รายงานว่า
แพทย์แผนไทยแนะนำประชาชนใช้สมุนไพรพื้นบ้านไล่ยุง ป้องกันโรคไข้เลือดออกในหน้าฝน พร้อมแนะนำวิธีการทำสเปรย์ตะไคร้หอมอย่างง่ายไว้ใช้ในครัวเรือน
นพ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนหลาย ๆ จังหวัดของประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ปัจจุบันของโรคไข้เลือดออก (ข้อมูลวันที่ 5 มิถุนายน 2562)
พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว จำนวน 26,430 ราย และมีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับโรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus)
อาการของโรคนี้ มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
โดยเฉพาะในระยะที่มีเลือดออก (ระยะช็อก) ก็อาจส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำสมุนไพรพื้นบ้าน หาง่ายใช้สะดวก เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน มีสารสำคัญช่วยไล่ยุง ป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกได้
เช่น ตะไคร้หอม ซึ่งจะแตกต่างจากตะไคร้บ้าน คือ ตะไคร้หอมมีลำต้นจะเรียวยาว มีสีแดงอมม่วง ใบยาวกว่าตะไคร้และนิ่มกว่าตะไคร้บ้าน และมีกลิ่นที่ฉุนกว่า ไม่นิยมนำมาทำกับข้าว
ตะไค้หอม มีสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงและแมลงอื่น ๆ วิธีการนำมาใช้ไล่ยุงง่าย ๆ เพียงแค่นำตะไคร้หอมสดมาขยี้หรือทุบ ให้มีกลิ่น
แล้วนำไปวางไว้บริเวณมุมอับหรือจุดที่ต้องการไล่ยุง นอกจากนี้ ยังสามารถนำสมุนไพรชนิดอื่นมาให้ไล่ยุงได้ในวิธีเดียวกัน ได้แก่ ยูคาลิปตัส ผิวมะกรูด สะระแหน่ กะเพรา โหระพา ฯลฯ
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพร้อมใช้ที่ทำมาจากตะไคร้หอม สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปหรือตามร้านสะดวกซื้อ แต่หากต้องการสกัดตะไคร้หอมเพื่อทำสเปรย์ไว้ใช้ ก็มีวิธีทำง่าย ๆ
โดยหั่นตะไคร้หอมเอาเฉพาะลำต้น 100 กรัม ผิวมะกรูด 50 กรัม แล้วห่อผ้าขาวบาง ใส่ลงในโหลแก้ว เติมแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์) 1 ลิตร เทใส่โหลแก้ว ใส่การบูร 10 กรัม ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 7 วัน ระหว่างที่หมักต้องเขย่าโหลแก้วทุกวัน
เมื่อครบกำหนดกรองเอาแต่น้ำนำมาบรรจุขวดสเปรย์ แล้วติดฉลากว่าสเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง เพื่อป้องกันความปลอดภัย วิธีใช้ให้ฉีดหรือทาตามผิวกาย ยกเว้นใบหน้า เพื่อป้องกันยุงกัดและสามารถใช้ฉีดไล่มด แมลงสาบ แมลงวัน และแมลงที่ไม่ต้องการบริเวณที่อยู่อาศัย
รวมถึงใช้ฉีดดับกลิ่นเหม็น กลิ่นอับ การใช้ตะไคร้หอมยังไม่มีรายงานอาการข้างเคียงใด ๆ
21 มิถุนายน 2562
ผู้ชม 2977 ครั้ง