สสส. นำทัพสื่อมวลชน ลงพื้นที่ต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ตามแนวคิด “คลังอาหารชุมชน” เบาหวานเป็นศูนย์ 

บทความ

สสส. นำทัพสื่อมวลชน ลงพื้นที่ต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ตามแนวคิด “คลังอาหารชุมชน” เบาหวานเป็นศูนย์ 

News Update วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562 : สสส. นำทัพสื่อมวลชน ลงพื้นที่ต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ ชมผลงานการขับเคลื่อนชุมชนน่าอยู่บ้านดอนโรง ตามแนวคิด “คลังอาหารชุมชน” เบาหวานเป็นศูนย์ 

ด้านบ้านป่าไหม้ ชูแนวคิด “ขยับเท่ากับลดโรค” โชว์ออกกำลังกายสไตล์ “โนราบิค” ประยุกต์วัฒนธรรมพื้นบ้านส่งเสริมสุขภาพ

medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กล่าวถึงกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรเรียนรู้พื้นที่ต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพพื้นที่ภาคใต้และงานสร้างสุขภาคใต้ “สานพลัง การก้าวข้ามขีดจำกัด เพื่อภาคใต้แห่งความสุข” วันที่ 4 ส.ค. 62 ว่า พื้นที่บ้านดอนโรงและบ้านป่าไหม้ จ.นครศรีธรรมราช

ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สน.6) สสส. ในการจุดประกายให้ผู้นำและคนในชุมชนมองเห็นสถานการณ์ปัญหาภายในชุมชนตนเอง

อย่างเช่นที่บ้านดอนโรง ประชากรส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอ สภาพดินไม่เอื้อกับการทำเกษตรกรรม สสส. จึงผลักดันให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ด้วยการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ สร้างโอกาสในการแก้ไขปัญหาปากท้อง จนเกิดเป็นคลังอาหารชุมชน ส่งเสริมอาชีพเพิ่มพูนรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้า เลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ด ฯลฯ

ส่วนเหตุผลที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องก่อน เพราะสสส. เชื่อว่าก่อนที่คนจะหันมาใส่ใจสุขภาพได้ ความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจครัวเรือนต้องมาก่อน

และนอกจากการจุดประกายความคิดให้คนในชุมชนแล้ว สสส. ยังทำหน้าที่จุดประกายให้องค์กรรัฐต่างๆ เข้าร่วมสนับสนุนชุมชนให้เข้มแข็งมากขึ้นอีกด้วย สิ่งที่ สสส. จะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้คือการทำให้ชุมชนภาคใต้ได้รู้จักกัน เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความรู้ความต้องการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมในระดับภูมิภาค

นายมนูญ พลายชุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาพระบาท กล่าวว่า บ้านดอนโรงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการชุมชนน่าอยู่ ตำบลเขาพระบาท

โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 มีสภาผู้นำชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งมาจากกลุ่มเดิมคือกรรมการหมู่บ้านและรับสมัครตัวแทนในชุมชนจากกลุ่มต่างๆ และจิตอาสา ที่เข้ามาร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านด้วยความสมัครใจ  ทุกๆกิจกรรมที่นำมาใช้ในการพัฒนาบ้านดอนโรงล้วนมาจากการร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ ร่วมกันทำของสภาผู้นำชุมชนและชาวบ้าน   

มีการประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้ประเด็น“คลังอาหารชุมชน” ผลิตอาหารที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี คนบ้านดอนโรงสามารถผลิตอาหารไวบริโภคได้เอง พร้อมกับทำบัญชีครัวเรือนอยู่ตลอด

วันนี้คนบ้านดอนโรงมีสุขภาวะที่ดี มีความเข้มแข็ง มีอาชีพ มีรายได้ ป่วยน้อยลง โรคความดันโลหิตสูงไม่เพิ่มขึ้น กระทั่งบ้านดอนโรงไม่มีกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานหรือโรคเบาหวานเป็นศูนย์แล้ว และได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงในระดับอำเภอ และล่าสุดในระดับจังหวัด

นายสุทิน จำปาทอง ประธานกองสวัสดิการชุมชนเทศบาล ต.ท่างิ้ว กล่าวว่า ตำบลท่างิ้วประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน มีประชากร 10,000 กว่าคน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตรและรับจ้างทั่วไป บ้านป่าไหม้เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง การขับเคลื่อนงาน “ชุมชนน่าอยู่บ้านป่าไหม้”

ทั้งชาวบ้านและผู้นำชุมชนเราทำงานร่วมกัน  มีข้อมูล มีเกณฑ์ในการบอกถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จในการพัฒนาได้อย่างชัดเจน ด้านการส่งเสริมเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค เราได้ประยุกต์ใช้รูปแบบการออกกำลังกายสไตล์ “โนราบิค” ที่นำเอาวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ ตามแนวคิด“ ขยับเท่ากับลดโรค”

โดยได้รับความร่วมมือจากรพ.สต.โคกพึงในการประเมินสุขภาพก่อนการออกกำลังกาย รูปแบบดังกล่าวนี้ส่งผลให้คนในชุมชนบ้านป่าไหม้มีสุขภาวะดี ลดปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆอย่างได้ผล  ด้านอาชีพ บ้านป่าไหม้เริ่มต้นจากทุกครัวเรือนปลูกผักเลี้ยงสัตว์กินเอง บางอย่างแลกเปลี่ยนกันได้ และยกระดับไปสู่การทำเป็นอาชีพ

ที่สำคัญคือต้องขอขอบคุณ สสส. ที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนสร้างเครือข่ายในชุมชน มีการตั้งสภาชุมชน สนับสนุนด้านงบประมาณและวิชาการ ช่วยให้คนในชุมชนเกิดความรู้ มีรายได้เพิ่มขึ้น

และยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้คนในชุมชนเกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างความเข้มแข็งและความสามัคคีให้คนในชุมชนอีกด้วย

08 สิงหาคม 2562

ผู้ชม 1682 ครั้ง

Engine by shopup.com