กรมวิทย์ พัฒนาห้องแล็ปคุมคุณภาพยา ผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง ให้เข้าถึงประชาชนง่ายขึ้น ลดนำเข้าต่างประเทศ

บทความ

กรมวิทย์ พัฒนาห้องแล็ปคุมคุณภาพยา ผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง ให้เข้าถึงประชาชนง่ายขึ้น ลดนำเข้าต่างประเทศ

ยาชีววัตถุคล้ายคลึง , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , Biopharmaceutical , ยารีคอมบิแนนท์ โกรทฮอร์โมน , Recombinant growth hormone , ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , การควบคุมดูแลคุณภาพของยา , นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์

News Update วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 :  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพยา

สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานการผลิตยา Biopharmaceutical ในประเทศ อาทิ ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศและเพิ่มการเข้าถึงยาให้กับประชาชน

medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีปัจจุบันปริมาณการใช้ยาที่ผลิตโดยเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ ยาชีววัตถุ มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาชีววัตถุคล้ายคลึง ( Biosimilars ) ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่ายาต้นแบบจึงทำให้มีความต้องการสูงในการรักษาผู้ป่วย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน้าที่หลักในฐานะหน่วยงานห้องปฏิบัติการและมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพยา Biopharmaceutical ที่ผลิตโดยเทคโนโลยีชีวภาพ

จึงได้พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพโดยการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ สำหรับผลิตภัณฑ์ Biopharmaceutical ชนิด ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ( Monoclonal antibody )  

ริทูซิแมบ (Rituximab ยาเพกฟิลกราสทิม (Peg-filgrastim) และรีคอมบิแนนท์ โกรทฮอร์โมน (Recombinant growth hormone) ขึ้น  

ทำให้ ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีศักยภาพในการควบคุมดูแลคุณภาพของยากลุ่มนี้ทั้งก่อนและหลังจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด

นอกจากนี้ยังสามารถช่วยสนับสนุนการควบคุมคุณภาพการผลิตของผู้ผลิตภายในประเทศ โดยการถ่ายทอดความรู้และเทคนิควิธีที่พัฒนาขึ้น

รวมทั้งการเตรียมความพร้อมรับการตรวจวิเคราะห์เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้กับผู้ผลิตภายในประเทศ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ

ลดการนำเข้ายาและเพิ่มการเข้าถึงยาให้กับประชาชน ซึ่งมูลค่าของการนำเข้ายาทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์นี้ในแต่ละปีมีมูลค่าการนำเข้าประมาณปีละมากกว่า 1,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยาริทูซิแมบ ( Rituximab ) เป็นยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน หรือใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์

โดยยามีการทำงานเลียนแบบการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีฤทธิ์การทำงานแบบจำเพาะเจาะจงต่อแอนติเจนชนิดหนึ่งๆ อย่างจำเพาะ

สำหรับยาเพก-ฟิลกราสทิม (Peg-filgrastim) ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ ที่มีสาเหตุจากการใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง หรือ จากสาเหตุอื่นเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวบำบัด

ส่วน ยารีคอมบิแนนท์ โกรทฮอร์โมน ( Recombinant growth hormone ) ยานี้ใช้สําหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ และเด็กตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์

ซึ่งยานี้สามารถช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ สร้างความแข็งแรงของร่างกาย ทําให้มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้นานขึ้น 

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงมีการพัฒนาต่อยอดพัฒนาวิธีวิเคราะห์สำหรับผลิตภัณฑ์ Biopharmaceutical เพิ่มมากขึ้น

เพื่อให้ทันต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของภาคอุตสาหกรรมของต่างประเทศด้วยเพื่อให้องค์ความรู้เหล่านี้ สามารถนำมาใช้ช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยา Biopharmaceutical ของประเทศไทย

ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยาของประเทศได้มากและการผลิตยากลุ่มนี้ในประเทศยังสามารถช่วยในเรื่องของการส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายแพทย์โอภาส กล่าว 

01 ตุลาคม 2562

ผู้ชม 2112 ครั้ง

Engine by shopup.com