บำรุงราษฎร์ ปรับตัว ชู Medical technology มองไปข้างหน้าอีก 3 ปี เทคโนโลยีกระทบอุตสาหกรรมการแพทย์

บทความ

บำรุงราษฎร์ ปรับตัว ชู Medical technology มองไปข้างหน้าอีก 3 ปี เทคโนโลยีกระทบอุตสาหกรรมการแพทย์

News Update : บำรุงราษฎร์ รุกสร้างความแตกต่างด้านนวัตกรรม ชู Medical technology ปฏิวัติการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่สู่โลกอนาคต ตั้งเป้าผู้นำด้านบริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลก ในอีก 3 ปีข้างหน้า

medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า  ยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารองค์กรขนาดใหญ่ในทุกวันนี้มีความท้าทายอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยกระแส Digital Transformation หรือ Technology Disruption

ที่เข้ามามีอิทธิพลในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ หรือ Healthcare Industry อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันวงการแพทย์ได้มีการปรับประยุกต์ใช้และนำ Intelligent Healthcare หรือการดูแลสุขภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ

รวมไปถึงการนำ Internet of Things เข้ามาใช้งานในทางการแพทย์ ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่ท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ไม่เพียงแต่นวัตกรรม แต่ก็ยังมีปัจจัยสำคัญอีกมากมาย ที่วงการแพทย์โดยเฉพาะสถานพยาบาลต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับเปลี่ยนสู่ Smart Hospital และตอบรับยุค Healthcare 4.0 รวมถึงต้องเข้าใจเทรนด์อนาคตของวงการธุรกิจโรงพยาบาลทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

เภสัชกรหญิง อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายในปี 2565 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้าว่า

บำรุงราษฎร์ต้องการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่โรงพยาบาลด้านการให้บริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลก (World-class Holistic Healthcare) อย่างต่อเนื่อง

และมีความเป็นเลิศทางการรักษาขั้นตติยภูมิที่สร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม ซึ่งมีอยู่หลายองค์ประกอบที่ผู้นำองค์กรจะต้องกล้าคิด กล้าริเริ่ม กล้าทดลองเพื่อจะเรียนรู้ และตัดสินใจลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม Healthcare

ซึ่งมีความท้าทายอย่างมาก และในฐานะโรงพยาบาลชั้นนำเราจะต้องก้าวให้เร็วกว่าปกติ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว

โดยที่ผ่านมาบำรุงราษฎร์ได้ปรับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ไอทีต่างๆ เพื่อให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ในอนาคต ซึ่งบุคลากรล้วนจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อก้าวสู่โลกแห่งอนาคต

สิ่งสำคัญและท้าทายที่สุดคือ การบริหารคน วัฒนธรรมองค์กรจะช่วยหล่อหลอมให้พวกเขาสร้างทัศนคติเชิงบวก พร้อมเปิดใจรับที่จะเรียนรู้และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร

ดึงศักยภาพตัวเองออกมาใช้อย่างเต็มที่ รวมถึงต้องทำงานอย่างมีความสุขในช่วงเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างไร้รอยต่อเพื่อก้าวเดินสู่จุดหมายไปพร้อมๆ กับองค์กร

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี โรงพยาบาลได้มุ่งมั่นเพื่อยกระดับการบริบาลทางการแพทย์ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น โดยคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient Centric)  

รวมถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) เป็นสำคัญ  ด้วยวัฒนธรรมองค์กร และ DNA ของแพทย์ บุคลากร รวมถึงทุกสหสาขาวิชาชีพต่างก็รู้และเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่

เอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ป่วยมาโดยตลอด ซึ่งประสบการณ์ที่ดีของผู้ป่วย (Patient Experience) นับเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน”

สำหรับปี 2562 นี้ บำรุงราษฎร์ได้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นเรื่อง Excellence Management ซึ่งมี 3 องค์ประกอบหลักๆ ประกอบด้วย

1  Clinical Excellence: ความชำนาญการและประสบการณ์ของแพทย์ถือเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ Excellence Center ต่างๆ 

2 Operational & People Excellence: มุ่งเน้นการดูแลบุคลากร มีเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ ให้พนักงานมีความสุข มีอนาคต และเก่งขึ้น

3 Service Excellence: โรงพยาบาลฯ ยึดหลักการดูแลเอาใจใส่แบบวิถีแห่งบำรุงราษฎร์ รวมถึง มีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเข้าถึงของผู้มาใช้บริการให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย อีกทั้งบำรุงราษฎร์ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาใน 3 ส่วนหลักด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง การทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ

ด้านของนวัตกรรมทางการแพทย์ ดร. ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “ในช่วง 3 - 5 ปีที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์ได้มีการศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง (Advanced Medical Technology)

มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลได้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับประยุกต์ใช้หลายส่วนด้วยกัน

 ทั้งในเรื่องการนำระบบซอฟต์แวร์ Hospital Information System (HIS) เข้ามาปรับใช้ในโรงพยาบาลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลมีความแม่นยำและถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย และสามารถเรียกใช้งานแบบเรียลไทม์

 นอกจากนี้ ยังมีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ทางการแพทย์ในหลากหลายรูปแบบ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม อาทิ AI/Big Data, Genomics, Robotics, Scientific Wellness และ Telemedicine เป็นต้น”

ดร. ธีรเดช อธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดเก็บข้อมูลในเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Healthcare มีความซับซ้อนและค่อนข้างละเอียดอ่อน

ทั้งในแง่ของพรบ. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสถานพยาบาล ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข และสิทธิผู้ป่วย ฯลฯ

โดยข้อมูล Big Data จะนำไปสู่การพัฒนาการรักษาที่แม่นยำและจำเพาะทางการแพทย์ (Precision Medicine) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก

และอีกเทคโนโลยีที่สำคัญคือ การนำแพลตฟอร์มการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในรูปแบบ Telemedicine & Teleconsultation ภายใต้ชื่อ AnyWhere Application

เป็นเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่ร่วมกับ iDoctor ได้เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาผู้ป่วย และลดข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ซึ่งสามารถเชื่อมต่อสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ (Referral Office) ที่มีอยู่ 40 แห่งทั่วโลกได้ และ Remote Interpreter เป็นระบบที่เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ล่ามในการแปลภาษาให้กับผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์การสื่อสารโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปอยู่กับแพทย์หรือผู้ป่วย

ทิศทางในอนาคตของ Healthcare Industry ย่อมมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่สถานพยาบาลด้วยกันเอง แต่จะมีสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ที่พร้อมจะเข้ามาคิดค้นพัฒนาแพลตฟอร์มด้านสุขภาพใหม่ๆ

 เช่น การสร้างแอพตรวจโรคเบาหวาน แอพตรวจโรคมะเร็ง แอพหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือแอพผู้ช่วยเสมือนพยาบาล เป็นต้น

โดยอาจเชื่อมโยงข้อมูล Big Data และนำ AI มาทำนายโรคที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราในอนาคต โดยดูจากหลายปัจจัย อาทิ ความสัมพันธ์ของยีน ค่าความเสี่ยงต่างๆ จากพันธุกรรม

 รวมถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มาวิเคราะห์ร่วมกันจากหลายตัวแปร ซึ่งต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ แน่นอนว่าการดูแลสุขภาพจะเน้นการดูแลเชิงป้องกัน (Prevention) ไม่ให้เกิดโรคมากยิ่งขึ้น

 โดยมีการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ผลร่วมกับแพทย์เพื่อให้เข้าใจถึงรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละราย (DNA Wellness)

 และนำไปสู่การตรวจรักษาโรคได้อย่างแม่นยำและจำเพาะต่อตัวบุคคล (Precision and Personalization) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีและเหมาะสมที่สุดแก่ตัวผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา ไม่อาจบรรลุเป้าหมายทั้งหมดขององค์กรได้ บำรุงราษฎร์ตระหนักดีว่าการสื่อสารรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษา

การมีปฏิสัมพันธ์ การให้กำลังใจผู้ป่วยและการบริบาลอย่างเอื้ออาทร ยังคงเป็นบทบาทสำคัญของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลฯ ทุกคน

ในการสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้แก่ผู้ป่วยและผู้มาเยือนที่บำรุงราษฎร์ เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

05 มกราคม 2564

ผู้ชม 3217 ครั้ง

Engine by shopup.com