รู้จัก คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กับการนำร่อง "สูงเนินสุขภาวะโมเดล" ต้นแบบดูแลผู้ป่วย NCDs ทั่วไทย
รู้จัก คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กับการนำร่อง "สูงเนินสุขภาวะโมเดล" ต้นแบบดูแลผู้ป่วย NCDs ทั่วไทย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล - News Update วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2562 : จากสถานการณ์ในประเทศไทย
พบว่าประชาชนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งประชาชนไทยป่วยด้วย โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ป้องกันได้ถ้ามีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง
เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยในภาครัฐพบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
และในค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นการรักษาพยาบาลมากกว่าร้อยละ 70 ซึ่งมากกว่างบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค
ทั้งนี้ เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ ข่าวสาธารณสุข ท่องเที่ยว รายงานว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ( Health Literacy )
เป็นรากฐานที่สำคัญเน้นให้มีการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยเป็นประเด็นใหม่สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่เน้นการพัฒนาทักษะการให้ข้อมูลข่าวสารสุขภาพแก่บุคคล
และการสร้างสิ่งแวดล้อมในสังคม องค์กรที่มีการเน้นความสำคัญของการใช้ข้อมูล การประเมินความถูกต้องของข้อมูล และตัดสินใจด้วยข้อมูล
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะสาธารณสุขแห่งแรกของไทย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะสาธารณสุขแห่งแรกของไทย และมีบทบาทในฐานะสถาบันการศึกษาในการวางรากฐานด้านการศึกษาทางสาธารณสุขตลอดจนขับเคลื่อน
และพัฒนาเพื่อการเข้าถึง และเข้าใจข้อมูลสุขภาพสำหรับประชาชนให้สามารถดูแลสุขภาพของตนเอง และครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
ปีการศึกษา 2561 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ โรงพยาบาลสูงเนิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ ในอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
นำร่องโครงการฝึกปฏิบัติงานพัฒนาสุขภาพแบบบูรณาการ(การฝึกภาคสนาม) ของคณะฯ เป็นแห่งแรกของประเทศโดยน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา"
และแนวคิดความรู้ด้านสุขภาพ กับการพัฒนาสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการมาใช้ในรูปแบบของการ "ผนึกกำลัง สร้างสรรค์ พัฒนา นำพาความรอบรู้ สู่สุขภาวะชุมชน"
จากตัวเลขผู้ป่วยโรคเบาหวานของโรงพยาบาลสูงเนินที่มากถึง 5,000 คน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีกว่า 10,000 ราย
ถือเป็นกรณีศึกษาปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปมีบทบาทโดยการบูรณาการความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วย "สูงเนินสุขภาวะโมเดล"
รองศาสตราจารย์ ดร. ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง "สูงเนินสุขภาวะโมเดล" ว่า เป็นการออกแบบเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจและสังคมให้กับคนในชุมชน
เพื่อการป้องกันและดูแลรักษาให้ตัวเองสุขภาพที่ดีปลอดภัยจากโรค NCDs ที่เป็นอยู่ โดยปรับวิถีชีวิตตัวเองในการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เพื่อจะได้ลด และงดการใช้ยาได้ในที่สุด
"สูงเนินสุขภาวะโมเดล" เป็นหนึ่งในความพยายามของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามเป้าหมายและปรัชญาของการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน"
ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ คือ ผู้ป่วยไม่สามารถนำความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และควบคุมโรคไปใช้ได้จริง ในการอธิบายถึงโมเดลดังกล่าวให้เข้าใจอย่างง่ายๆ
รองศาสตราจารย์ดร. ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ ได้ใช้ "กระบอกข้าวหลาม" ผ่าครึ่งตามยาว เพื่อสาธิตให้เห็นถึงการทำงานของระบบไหลเวียนของหลอดเลือด
และใช้ "แป้งโดว์" มาทำเป็นไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือด เพื่อแสดงให้เห็นภาวะการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้ผู้ป่วยเกิดความตระหนักว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่คืออะไร และจะจัดการได้อย่างไร
นอกจากนี้ ได้มีการประยุกต์ใช้ "แนวคิดจิตสังคม" โดยใช้กัลยาณมิตรที่ประสบความสำเร็จสามารถหยุดยาได้อย่างปลอดภัยเป็นผู้ป่วยที่เข้าใจจิตใจและวิถีชีวิตผู้ป่วยด้วยกันเอง
สามารถสื่อสารด้วยภาษาที่ง่ายๆ โดนใจ และมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และให้กำลังใจ ผู้ป่วยโรค NCDs ด้วยกัน และยังเชื่อมกับทีมสุขภาพของโรงพยาบาลผู้ป่วยจะทำตัดสินใจเองในการทำกิจกรรมต่างๆ
อาทิ การออกกำลังกาย การสร้างวิธีคิดบวก การทำสมาธิ การร่วมกันสร้างสรรค์เมนูอาหารสุขภาพ และการสร้าง "แปลงผักดักเบาหวาน" ที่ปลูก และดูแลโดยผู้ป่วยเอง
โดยมุ่งพัฒนาพื้นที่ศูนย์ให้เป็น "Social Innovation & Smart City"
"ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบที่เราพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการวิถีชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายต้องมีความเข้มแข็งทั้งในด้านบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม
พวกเราชาวคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความภาคภูมิใจว่า เราได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอันเป็นจุดเป้าหมายที่จะสร้างความยั่งยืน
และจะได้ขยายเครือข่ายดูแลสุขภาวะออกไปเพื่อเป็นต้นแบบการดูแลสุขภาพให้กับผู้ป่วยโรค NCDs ทั่วประเทศต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร. ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ กล่าว
สำหรับ หลักสูตร ปริญญา ตรี คณะ สาธารณสุข ศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล มี กี่ สาขา ได้แก่
1 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ( อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ) ได้แก่ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
2 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ( สาธารณสุขศาสตร์ ) ได้แก่
- ภาควิชาโภชนวิทยา
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม
- ภาควิชาอนามัยชุมชน
- ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์
ฐิติรัตน์ เดชพรหม ......รายงาน
22 ตุลาคม 2562
ผู้ชม 3259 ครั้ง