ดร.สาธิต ย้ำการใช้ ai ในทางการแพทย์ ai วินิจฉัยโรค ai ด้านสุขภาพ ตรวจรักษาโรค เพิ่มความแม่นยำวินิจฉัยโรค

บทความ

ดร.สาธิต ย้ำการใช้ ai ในทางการแพทย์ ai วินิจฉัยโรค ai ด้านสุขภาพ ตรวจรักษาโรค เพิ่มความแม่นยำวินิจฉัยโรค

News Update วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2562 : กระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เร่งใช้เทคโนโลยีเพิ่มความแม่นยำในการตรวจและรักษาโรค

เพื่อประชาชนเข้าถึงบริการแพทย์เฉพาะทางสะดวกใกล้บ้าน สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย ป้องกันการเจ็บป่วย

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  ข่าวสาธารณสุข ท่องเที่ยว รายงานว่า ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ หมอตี๋  

กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนกรมการแพทย์เพื่อสุขภาพของคนไทย ในพิธีเปิดการสัมมนานโยบายและทิศทางการดำเนินงานกรมการแพทย์ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ว่า

กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายมุ่งเน้นการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง”

นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการ และระบบสุขภาพทางไกล เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้รับบริการอย่างไร้รอยต่อ

ลดความแออัดการรอคอย ในโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ 32 แห่ง เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent :  AI) มาช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษาโรค

ขณะนี้โรงพยาบาลราชวิถีได้นำ ระบบ AI มาใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอประสาทตา พบว่าได้ผลแม่นยำสูงส่งผลดีต่อการรักษาผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการสุขภาพทางไกล (Telehealth Co-creation) กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามารถปรึกษาทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลศูนย์

มีระบบฐานข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย ระบบนัดหมาย ประชาชนพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการทางการแพทย์เฉพาะทางอย่างเท่าเทียม ลดภาระการเดินทาง และลดแออัดในโรงพยาบาล

“ผมพร้อมสนับสนุนให้กรมการแพทย์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษาโรค และพัฒนาระบบบริการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา อำนวยความสะดวกในการรับบริการ เนื่องจากเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจริงๆ” ดร.สาธิตกล่าว

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีความเชี่ยวชาญสูงในการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน

จึงมีภารกิจสำคัญ คือ การจัดการโรคหลอดเลือดสมอง และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่เป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิต 2 อันดับแรกของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่า และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางวิชาการและบริการทางการแพทย์ในทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาการแพทย์ของประเทศ

สู่มาตรฐานสากลอาทิ การพัฒนาทีม Thailand EMT ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน เป็นลำดับที่ 26 ของโลก

การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามกลุ่มวัย การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์

ปีงบประมาณ 2563 มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรอย่างไรร้อยต่อ ลดความแออัดและการรอคอยในโรงพยาบาล

โดยเน้นการวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะเพื่อการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้กับประชาชน  สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

การเสริมสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการและบริการแก่บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก ระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการ

เช่น แอปพลิเคชันระบบคิว ระบบปรึกษาทางไกล การแพทย์แม่นยำ เป็นต้น

23 ตุลาคม 2562

ผู้ชม 2603 ครั้ง

Engine by shopup.com