แพทย์เจอเคสโรคมะเร็งเต้านมใหม่ 30 รายต่อวัน ตายเฉลี่ย 10 คนต่อวัน แนะแพทย์ยุคใหม่ ตัวเลือกรักษาโอกาสหาย
แพทย์เจอเคสโรคมะเร็งเต้านมใหม่ 30 รายต่อวัน ตายเฉลี่ย 10 คนต่อวัน แนะแพทย์ยุคใหม่ ตัวเลือกรักษาโอกาสหาย
News Update วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2562 : เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนที่ประเทศไทยและทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ ต่อต้านมะเร็งเต้านม
ซึ่งถือเป็นโรคร้ายที่มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับหนึ่งสำหรับเพศหญิงต่อเนื่องมานานหลายปี
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ ข่าวสาธารณสุข ท่องเที่ยว รายงานว่า ในโอกาสนี้ มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เห็นความสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม
จึงต่อยอดจัดงาน Pink Alert เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
ปีนี้ ได้จัดงานภายใต้ชื่อ Pink Alert 2019: รู้ไว หายทัน โดยเน้นการให้ความรู้ถึงเทคโนโลยีการแพทย์ยุคใหม่ ที่มอบตัวเลือกการรักษาให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น
พร้อมแก้ไขความเข้าใจผิด ๆ ของโรคมะเร็งเต้านม เพื่อสร้างความตื่นตัวในการตรวจคัดกรองให้แก่ผู้หญิงไทยทุกคน
โรคมะเร็งเต้านม ถือเป็นโรคมะเร็งที่ผู้หญิงไทยตรวจพบเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี
ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วโลก โดยเมื่อปี 2561 มีการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยใหม่ของโรคมะเร็งเต้านมถึงสองล้านรายทั่วโลก
ถือเป็นหนึ่งในสองโรคมะเร็ง (มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด) ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่มากที่สุดในโลก
จากรายการศึกษาของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ( American Cancer Society ) ในปี 2560 เผยว่า จำนวนของผู้หญิงที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่ามีผู้หญิงประมาณ 322,000 คนที่ได้รับการรักษาจนสามารถรอดชีวิต[2] จากการที่มีเทคโนโลยีการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า
ประกอบกับการรณรงค์ให้ผู้หญิงมีการตรวจคัดกรองด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยสามารถตรวจสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านมได้เร็วเท่าใด ก็จะยิ่งมีโอกาสหายขาดได้สูงขึ้นเท่านั้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงเอื้อมแข สุขประเสริฐ
กรรมการมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงเอื้อมแข สุขประเสริฐ กรรมการมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า
“เราพบเคสโรคมะเร็งเต้านมใหม่ ประมาณ 30 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 10 คนต่อวัน โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในไทยอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 100,000 คน
ในจำนวนนี้ หากมีการตรวจเจอในระยะเริ่มต้น เช่น ระยะ 0 ซึ่งเป็นระยะก่อนมะเร็ง จะมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดสูงถึง 95-100 เปอร์เซ็นต์
หากเจอในระยะที่หนึ่ง ซึ่งยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง โอกาสหายจะเหลือ 90 เปอร์เซ็นต์ ระยะที่ 2 จะอยู่ที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หากตรวจเจอในระยะที่ 3 ที่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง จะมีโอกาสหายขาดที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์
เมย์-พิชญ์นาฏ สาขากร เป็นแขกรับเชิญของ Pink Alert 2019: รู้ไว หายทัน
เนื่องจากการค้นพบมะเร็งเต้านมในขั้นต้น เพิ่มโอกาสหายขาดได้ ทำให้ Pink Alert ในปีนี้ กลับมาอีกครั้งในคอนเซ็ปต์ รู้ไว หายทัน
เพื่อเน้นให้ผู้หญิงไทยทุกคนตระหนักในความสำคัญของการตรวจคัดกรองด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง
หรือพบแพทย์ตามกำหนด โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมมะเร็งเต้านม
เช่น มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมแนะนำให้ทำเพื่อเป็นการคัดกรองปีละครั้งในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
และอาจจะพิจารณาทำสองถึงสามปีครั้งในผู้หญิงที่อายุ 40 – 50 ปี เพราะผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ทุกคน และจะพบมากขึ้นในช่วงกลุ่มอายุที่มากกว่า 40 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ โครงการ Pink Alert ยังอยากให้ผู้หญิงทุกคนได้รับรู้ถึงโอกาสของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่จะสามารถหายขาดจากมะเร็งเต้านมได้
ถ้าเจอตั้งแต่ระยะต้น โอกาสที่จะมีชีวิตที่ยืนยาว พร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีและโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ดียิ่งขึ้นด้วยการรักษาแบบมาตรฐานในปัจจุบัน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการแพทย์ที่เป็นการเลือกการรักษาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละบุคคล
“การรักษาจำเพาะสำหรับแต่ละบุคคลหรือ personalized treatment เป็นแนวทางการรักษาที่เริ่มต้นจากการใช้ข้อมูลในระดับยีนที่มีความจำเพาะซึ่งมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อมาเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยนั้น ๆ
ทำให้เกิดการรักษาที่เรียกว่ายาพุ่งเป้า ( targeted therapy ) ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงและส่งผลข้างเคียงน้อย
นอกจากยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้าแล้ว ยังมียากลุ่มนวัตกรรมใหม่คือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy)
ซึ่งวิธีการรักษาทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่ามีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทย” ผศ.ดร. เอื้อมแข กล่าว
ปัจจุบันความเข้าใจผิด ๆ ของโรคมะเร็งเต้านม ยังเป็นปัญหาสำคัญของตรวจคัดกรองและการรักษาของผู้หญิงไทย อาทิ ผู้หญิงที่มีหน้าอกเล็กมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่มีหน้าอกใหญ่
แต่จริง ๆ แล้วขนาดไม่มีผล หรือความเชื่อที่ว่า การสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับ หรือการศัลยกรรมเพิ่มขนาดหน้าอก ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม
ปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันความเชื่อมโยงดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ผู้ชายยังสามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน เพียงแต่มีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าผู้หญิงถึง 100 เท่า
ไปจนถึงความเชื่อที่ว่า การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำมะพร้าว ถือเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยง ซึ่งยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์แต่อย่างใด
นอกจากนั้นความเชื่อที่ว่าอาหารเสริม สมุนไพร หรือการรักษาทางเลือกอื่น ๆ สามารถรักษามะเร็งเต้านมได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงและไม่มีหลักฐานทางการแพทย์พิสูจน์
ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งช่วยทำให้หายจากโรคหรือยืดอายุให้ผู้ป่วยได้ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการพูดคุยสอบถามทำความเข้าใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งโดยเฉพาะ
มะเร็งเต้านม ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน มะเร็งเต้านม ยังเป็นโรคที่ผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายขาดได้มากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด
ผู้หญิงไทยทุกคนจึงควรมีความเข้าใจในโรคมะเร็งเต้านมที่ถูกต้อง แนวทางการรักษา รวมไปถึงการหมั่นตรวจเช็คร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
27 ตุลาคม 2562
ผู้ชม 1372 ครั้ง