ตกมาตรฐานอื้อ ! กรมวิทย์พบเครื่องวัดความดันที่ใช้กันเอง ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 10 และร้อยละ 17 ไม่สามารถทดสอบได้
ตกมาตรฐานอื้อ ! กรมวิทย์พบเครื่องวัดความดันที่ใช้กันเอง ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 10 และร้อยละ 17 ไม่สามารถทดสอบได้
medhub news - News Update : กรมวิทย์ อบรมการใช้เครื่องทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิต สำหรับประชาชน BP Sure ให้กับเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สำหรับตรวจสอบเครื่องวัดความดันโลหิตให้ประชาชนในพื้นที่ ช่วยให้การเข้าถึงการตรวจสอบเครื่องทำได้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เครื่องวัดความดันโลหิตที่มีคุณภาพ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ทั้งนี้ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงเครื่องวัดความดันโลหิตเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสุขภาพ
เกี่ยวกับโรคความดันโลหิต ซึ่งมีทั้งที่เป็นแบบปรอทและแบบอัตโนมัติที่แสดงค่าความดันเป็นตัวเลข
จากข้อมูลการขายคาดว่ามีการซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติที่ใช้งานในครัวเรือน ประมาณ 200,000 เครื่อง/ปี และมีเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติที่ อสม. ใช้ในการเยี่ยมบ้าน ประมาณ 100,000 เครื่อง
ประชาชนส่วนใหญ่ที่ซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตยังไม่ทราบว่าเครื่องวัดความดันโลหิตที่ใช้งานจำเป็นที่ต้องตรวจสอบการทำงานของเครื่องเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
และได้รับการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลา เพื่อให้ค่าความดันที่วัดได้ไม่มีความคลาดเคลื่อนเกินเกณฑ์ที่ยอมรับ ประชาชนสามารถใช้เครื่องวัดความดันโลหิตที่มีคุณภาพในการดูแลสุขภาพตนเอง
จากข้อมูล “การพัฒนาขีดความสามารถการทวนสอบเครื่องวัดความดันโลหิตของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์” ของสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
และโครงการ “การยกระดับการควบคุมเครื่องวัดความดันโลหิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ปี พ.ศ.2555” โดย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
พบว่าจากการสุ่มตัวอย่างกว่า 1,200 เครื่องทั่วประเทศ พบว่ามีเครื่องที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ประมาณร้อยละ 10 และร้อยละ 17 ไม่สามารถทดสอบได้
เนื่องจากขาดข้อมูลทางเทคนิคและอุปกรณ์พิเศษเฉพาะรุ่นของเครื่องนั้น และในปี 2560 สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทดสอบคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตที่ใช้งานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
และใช้งานโดย อสม. จำนวน 586 เครื่อง พบว่า มีเครื่องที่ตกมาตรฐานทั้งสิ้น 112 เครื่อง คิดเป็นประมาณร้อยละ 19 โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องที่ตกมาตรฐานด้านอัตราการรั่วของความดันในระบบ ทำให้มีผลกระทบในการวินิจฉัยโรค
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตระหนักถึงการดูแลประชาชนให้ใช้เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดอัตโนมัติที่มีคุณภาพ จึงได้จัดทำโครงการเครื่องวัดความดันโลหิตปลอดภัยคนไทยสุขภาพดีเฉลิมพระเกียรติ
เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยพัฒนาเครื่องทดสอบเครื่องวัดความดันสำหรับประชาชน BP Sure ขึ้น
โดยมีเป้าหมายให้เครื่องวัดความดันโลหิตที่ประชาชนใช้งานได้รับการตรวจสอบคุณภาพอย่างทั่วถึง ช่วยให้การเข้าถึงการตรวจสอบเครื่องทำได้ครอบคลุมมากขึ้น เจ้าหน้าที่ รพ.สต. อสม. ตลอดจนประชาชนสามารถทดสอบได้เอง
อย่างไรก็ตามการดูแลประชาชนจะดำเนินการผ่านทางหน่วยบริการสุขภาพระดับชุมชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร
จึงต้องมีการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ สำหรับในเขตสุขภาพที่ 13 ซึ่งดูแลพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จะได้อบรมการใช้เครื่องทดสอบเครื่องวัดความดันสำหรับประชาชน BP Sure ให้กับเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง
ซึ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชน และสามารถเป็นหน่วยตรวจสอบเครื่องวัดความดันโลหิตให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เครื่องวัดความดันโลหิตของตนเองที่บ้านได้อย่างมั่นใจ
“สำหรับประชาชนที่มีเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ สามารถนำเครื่องมาทดสอบคุณภาพได้ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานบริการใกล้บ้านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้สามารถตรวจสอบสถานบริการใกล้บ้านได้ในแอพพลิเคชั่น BP Sure ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และ IOS” นายแพทย์โอภาส กล่าว
07 พฤศจิกายน 2562
ผู้ชม 2277 ครั้ง