ปลัดสุขุม กำชับโรงพยาบาลเฝ้าระวังเหตุ หากมีผู้บาดเจ็บจากทะเลาะวิวาท ประสานตำรวจคุมเข้มทันที ไม่ต้องรีรอ
ปลัดสุขุม กำชับโรงพยาบาลเฝ้าระวังเหตุ หากมีผู้บาดเจ็บจากทะเลาะวิวาท ประสานตำรวจคุมเข้มทันที ไม่ต้องรีรอ
medhub news - News Update : ปลัดสุขุม กำชับโรงพยาบาลใกล้บริเวณจัดงานลอยกระทง เฝ้าระวังเหตุ หากมีผู้บาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทประสานตำรวจคุมเข้มทันที
ไม่ต้องรอให้เกิดเรื่อง ตามมาก่อเหตุทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาล สั่งดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่ทะเลาะวิวาทขั้นเด็ดขาด
ทั้งนี้ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์สุขุม กาญจพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ในวันลอยกระทง 11 พฤศจิกายน 2562
หลายพื้นที่ได้จัดงานตามประเพณี และการที่มีผู้คนมาอยู่รวมกันจำนวนมากอาจเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทตามมาได้
จึงกำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดที่อยู่ใกล้สถานที่จัดงานลอยกระทง เตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุ /เจ็บป่วยฉุกเฉิน
รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาล โดยให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ร่วมรักษาความปลอดภัย
หากมีผู้บาดเจ็บจากเหตุทะเลาะวิวาทเข้ามารักษา ให้กันญาติออกจากห้องฉุกเฉิน หรือหากมีประตูนิรภัยให้ปิดล็อคประตูทันที พร้อมประสานตำรวจคุมเข้มไม่ต้องรอให้เกิดเรื่อง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ได้มีมาตรการความปลอดภัยในโรงพยาบาล โดยเฉพาะบริเวณห้องฉุกเฉิน ดังนี้
1 ทำแนวทางปฏิบัติป้องกันและจัดการความรุนแรง ทบทวน ฝึกซ้อมและปรับปรุงเป็นประจำ 2.จัดระบบควบคุมประตู หรือมีทางเข้า-ออก ที่ปลอดภัยหลายช่องทาง
3 จัดสถานที่พักคอยสำหรับญาติ จำกัดการเข้าออก 4.ตรวจสอบกล้องวงจรปิดให้พร้อมใช้งาน และติดตั้งเพิ่มในจุดเสี่ยง
5 จัดระบบคัดกรองโดยเฉพาะผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน และจัดบริการให้เหมาะสมกับความเร่งด่วน รวมทั้งให้สื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อลดความวิตกกังวล 6.จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง
7 จัดหาสัญญาณเตือนภัย หรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีช่องทางแจ้งเหตุด่วนกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการป้องกัน แต่ยังพบการก่อความรุนแรงในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อลดความรุนแรง
เพิ่มความปลอดภัยเจ้าหน้าที่และผู้ที่มารับบริการ หากเกิดกรณีความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สินในโรงพยาบาล ให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุทันที
ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ลงโทษขั้นเด็ดขาดตาม ม.360 ม.364 และม.365 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี
“แม้เราจะมีมาตรการป้องกัน แต่คงป้องกันไม่ได้ทั้งหมด ต้องขอความร่วมมือประชาชนผู้มารับบริการ รวมทั้งญาติผู้ป่วย ร่วมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น
ขอให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ปลอดความรุนแรงสำหรับทุกคน และที่สำคัญคือ จิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้ที่ตั้งใจเข้ามาก่อเหตุ
และขอความร่วมมือสื่อ สื่อสังคมออนไลน์ให้เสนอผลลัพธ์การลงโทษ แทนการเสนอพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง” นายแพทย์สุขุม กล่าว
17 พฤศจิกายน 2562
ผู้ชม 1443 ครั้ง