"มะเร็ง" เป็นโรคร้ายที่ในแต่ละปีคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก มหิดล ต่อยอดวิจัย รักษา มะเร็งในเด็กให้หายขาด

บทความ

"มะเร็ง" เป็นโรคร้ายที่ในแต่ละปีคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก มหิดล ต่อยอดวิจัย รักษา มะเร็งในเด็กให้หายขาด

- "มะเร็ง" เป็นโรคร้ายที่ในแต่ละปีคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก มหิดล ต่อยอดวิจัย รักษา มะเร็งในเด็กให้หายขาด

News Update วันศุกร์ที่ 31 มกราคม  2563 : "มะเร็ง" เป็นโรคร้ายที่ในแต่ละปีคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยองค์การอนามัยโลก ( WHO ) ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

เป็น "วันมะเร็งโลก" หรือ "World Cancer Day" เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็ง

เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสังคม สุขภาพ สาธารณสุข ท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า จากการสำรวจล่าสุดของชมรมมะเร็งในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย พบว่าอัตราการเกิด โรคมะเร็งในเด็ก อยู่ที่ประมาณ 100 คนต่อประชากรเด็กไทย 1,000,000 คนต่อปี

ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย อยู่ที่ประมาณเกือบ 40 คนต่อประชากรเด็กไทย 1,000,000 คนต่อปี

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มะเร็งในเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากมะเร็งในเด็กเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมในตัวผู้ป่วยเอง

เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์คนไข้ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของพ่อแม่ และไม่ใช่มะเร็งทุกชนิดจะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่จะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งในเด็กได้ เพียงแต่มะเร็งในเด็กนั้น หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง คนไข้สามารถหายขาดจากโรคมะเร็งได้

นอกจากนั้นผู้ป่วยจะต้องได้รับการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง และดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี สามารถทำให้ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้ยาเคมีบำบัด และสามารถมีโอกาสหายขาดจากโรคได้

โอกาสหายขาดขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง มะเร็งบางชนิดมีโอกาสหายขาดสูง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL หรือ Acute Lymphoblastic Leukemia

ที่พบมากในเด็กนั้นมีโอกาสหายขาดสูง จากตัวเลขของชมรมมะเร็งในเด็กแห่งประเทศไทยปัจจุบันพบว่ามีโอกาสหายขาดเกินร้อยละ 60 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 - 80

การรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัด เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นผลสำเร็จแล้วหลายราย

 และกำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาผลข้างเคียง ก่อนเผยแพร่วิธีการรักษาดังกล่าวให้แพร่หลายต่อไปในอนาคต

"เซลล์เม็ดเลือดขาว ที่เราเอามาจากผู้ป่วย หรือผู้บริจาค ก็เหมือนกับทหารที่ไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกายตัวเองได้

เนื่องจากไม่มีปืน ขั้นตอนที่เราทำในห้องปฏิบัติการก็คือติดปืนให้ทหาร เพื่อที่จะไปต่อสู้กับเซลล์มะเร็งนั้นได้ เพียงแต่ปืนของเรามีข้อจำกัดก็คือสามารถรักษาได้เฉพาะมะเร็งชนิดนี้เท่านั้น

นอกจากนี้การรักษาด้วยเซลล์บำบัดไม่ใช่เป็นการรักษาสุดท้ายสำหรับผู้ป่วย ในบางรายอาจจะต้องมีการรักษาอย่างอื่นต่อเนื่องด้วย" รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อุษณรัสมิ์ กล่าว อธิบาย

นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังได้ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา หรือ ECDD ( Excellent Center for Drug Discovery ) มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยค้นคว้าวิธีใหม่ๆ ในการรักษาโรคมะเร็ง

โดย ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ผู้อำนวยการ ECDD เปิดเผยว่า "ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีร่วมกันในการที่จะเปลี่ยนแปลง ทีเซลล์ ( T-Cell )

หรือ เม็ดเลือดขาวทีเซลล์ เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ALL ได้ จากการใช้เทคโนโลยีสร้างเครื่องมือหนึ่งในการรักษาที่เรียกว่า CAR T-Cell

CAR T-Cell หมายถึง เม็ดเลือดขาวทีเซลล์ของภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ถูกดัดแปลงในห้องแลปก่อนที่จะถูกฉีดกลับไปในร่างกายของผู้ป่วย

CAR ย่อมาจาก  Chimeric Antigen Receptor ที่มีความหมายว่า ตัวรับแอนติเจนที่มีพันธุกรรมดัดแปลง

กล่าวคือทีเซลล์ถูกดัดแปลงแก้ไขให้มีโปรตีนที่ทำให้ทีเซลล์นั้นสามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่งได้ เมื่อ CAR T-Cell ถูกฉีดกลับเข้าไปในร่างกายจะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งชนิดนั้นได้

และ CAR T-Cell จะเจริญเติบโตแบ่งตัวเพิ่มจำนวน สามารถอยู่ในร่างกายทำให้สามารถควบคุมเซลล์มะเร็ง และป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้อีกด้วย

"ที่เรากำลังเตรียมหลังจากนี้คือการสร้างกระบวนการให้เป็นที่ยอมรับ อยู่ภายใต้การควบคุมตามมาตรฐานของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.)

มีโรงงานและกระบวนการที่เหมาะสม โดยเพิ่มจำนวนการศึกษาใน ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มากขึ้น เพื่อดูประสิทธิภาพการรักษาว่าเป็นอย่างไร เป็นไปตามเกณฑ์ที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ ที่สำคัญมากคือการรักษาต้องมีความปลอดภัย

หลังจากกระบวนการเหล่านี้ผ่าน ทุกคนที่ป่วยด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดจะได้รับการรักษา ด้วยวิธีการ CAR T-cell นี้

โดยโครงการใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 - 3 ปี เรามีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะให้กระบวนการรักษาใช้ได้จริง และทุกคนสามารถเข้าถึงได้" ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว

กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก มูลนิธิรามาธิบดี จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนค่ารักษา ผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็ก และช่วยสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยโรคมะเร็งในเด็ก

ด้วยความหวังที่จะทำให้เด็กไทยที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง สามารถหายขาดจากโรค แล้วสามารถกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศไทยของเราต่อไปได้  ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาติดต่อบริจาคได้ที่ โทร. 0-2201-1111

03 กุมภาพันธ์ 2563

ผู้ชม 1579 ครั้ง

Engine by shopup.com