จัดหนัก อาหารเสริมลดน้ำหนัก CHOCO MIA ตามล่าหาเจ้าของมารับโทษรุนแรง ทั้งโฆษณาแอบอ้าง โฆษณาเกินจริง
จัดหนัก อาหารเสริมลดน้ำหนัก CHOCO MIA ตามล่าหาเจ้าของมารับโทษรุนแรง ทั้งโฆษณาแอบอ้าง โฆษณาเกินจริง
แพทยสภา ศิริราช อย.จัดหนัก อาหารเสริมลดน้ำหนัก CHOCO MIA ตามล่าหาเจ้าของมารับโทษรุนแรง ทั้งโฆษณาแอบอ้างคณบดีแพทยศาสตร์ และ สรรพคุณเกินจริง
แพทยสภา , ศิริราช , อย. - News Update วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 : ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ร่วมกับ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
พร้อมด้วย พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ร่วมแถลง เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องดื่มลดน้ำหนักยี่ห้อ CHOCO MIA
โดยมีการแอบอ้างว่า ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินหรือรักษารูปร่าง เริ่มต้นการลดน้ำหนักของลูกค้า ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาควบคุมอาหารหรือออกกำลังกาย
และโฆษณาแอบอ้างสรรพคุณว่า เป็นสูตรการรักษานวัตกรรมใหม่เพื่อการลดน้ำหนัก โดยไม่ใช้สารเคมีไม่ต้องอดอาหารไม่ต้องออกกำลังกาย ซึ่งคำโฆษณาต่างๆ เหล่านี้อาจอันตรายถึงชีวิตได้
เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสังคม สุขภาพ สาธารณสุข ท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า ศ. เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวถึง กรณีที่อุปนายกแพทยสภา คนที่หนึ่ง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถูกแอบอ้างชื่อในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องดื่มลดน้ำหนักนั้น
โดยปกติแล้วสมาชิกแพทยสภาไม่ทำเรื่องการรับงานโฆษณาสินค้าอยู่แล้ว เพราะทราบดีว่าขัดต่อระเบียบข้อบังคับของแพทยสภา
ได้มีโอกาสเห็นรูปท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ศ.ดร.นพ ประสิทธิ์ วัฒนาภา โฆษณาขายผลิตภัณท์อาหารเสริมและเครื่องดื่มลดน้ำหนักใน social media
พอเห็นรู้ได้ทันทีว่าท่านคณบดีเป็นเหยื่อเข้าแล้ว ไม่คิดแม้แต่นิดเดียวว่า ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา จะทำเช่นนี้ เพราะรู้จักท่านนี้มามากกว่า 30ปี ว่าไม่ทำอย่างนี้แน่ๆ และก็คิดไม่ผิด เพราะจริงๆ แล้วท่านไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย
ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ โดยนำบุคคลที่น่าเชื่อถือมาแอบอ้างเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อเพื่อประโยชน์ของตนเรื่องเช่นนี้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา14และมาตรา16
เพื่อปราบปรามการส่งข้อมูลเท็จ หรือการส่งภาพตัดต่อที่จะทำให้ผู้อื่นเสียหาย และนำสินค้ามาโฆษณาหลอกลวงประชาชนเพื่อขายผลิตภัณฑ์ของตน สำหรับคดีนี้ผู้เสียหายคงต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป
ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงกรณีที่ถูกแอบอ้างชื่อในผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมและเครื่องดื่มลดน้ำหนักทางโซเชียลมีเดีย
โดยใช้ภาพและข้อความบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคว่า “การแอบอ้างชื่อผู้อื่นไปใช้สำหรับโฆษณาผลิตภัณฑ์ โดยที่ผู้นั้นไม่มีส่วนรู้เห็น
มีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ เพราะถ้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ดีต่อสุขภาพจริง จะต้องไม่แอบอ้างชื่อผู้อื่น
ถ้าผู้ใช้หลงเชื่อ เข้าใจว่าดีจริงตามที่โฆษณา และนำไปใช้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งเหล่านี้อยากให้สังคมไทยได้ตระหนัก
อยากให้คนเหล่านี้ หยุดการหลอกลวง หยุดการทำร้ายคนไทยด้วยกัน ยิ่งถ้าบริโภคแล้ว หากเกิดอันตรายถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต เราคงจะเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอยืนยันว่า ภาพผู้บริหารคณะฯ และข้อความที่ปรากฏบนสื่อโซเชียลมีเดีย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้นกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังที่แอบอ้าง
ซึ่งขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต
จะมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท การโฆษณาสรรพคุณโอ้อวดเกิน จริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อความที่แอบอ้างเป็น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
และหากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ขอให้ร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
28 กุมภาพันธ์ 2563
ผู้ชม 6451 ครั้ง