เผย เหยื่อเหตุกราดยิงที่โคราช ล่าสุดมี 4 คน ต้องดูแลใกล้ชิด ในหอผู้ป่วยหนัก ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
เผย เหยื่อเหตุกราดยิงที่โคราช ล่าสุดมี 4 คน ต้องดูแลใกล้ชิด ในหอผู้ป่วยหนัก ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
รพ.มหาราชโคราช , โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา , เหยื่อเหตุกราดยิงที่โคราช
- News Update วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 อนุทิน ชาญวีรกูล เยี่ยมติดตามอาการผู้บาดเจ็บ เหตุกราดยิงโคราช กำชับให้ทีมแพทย์ดูแลรักษาให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด
เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสังคม สุขภาพ สาธารณสุข ท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2563) ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
พร้อมด้วยแพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 9 นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา
เยี่ยมติดตามอาการผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ และให้สัมภาษณ์ว่า ณ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ยังมีผู้บาดเจ็บ นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 14 คน
ในจำนวนนี้มี 4 คน ต้องดูแลใกล้ชิด ในหอผู้ป่วยหนัก คนที่ 1 เป็นชาย อายุ 38 ปี บาดเจ็บที่ช่องท้อง ได้รับการผ่าตัดครั้งแรก เมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์
และครั้งที่ 2 เมื่อวานนี้ เพื่อซ่อมแซมบาดแผล อาการทั่วไปดี ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ คนที่ 2 เป็นชาย อายุ 37 ปี บาดเจ็บที่ศีรษะ ได้รับการผ่าตัดเมื่อกลางดึกวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ขณะนี้อาการคงที่ ยังเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
คนที่ 3 เป็นชาย อายุ 26 ปี มีบาดแผลที่หน้าอกและแขน ยังมีไข้ ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว อาการคงที่ยังต้องสังเกตอาการต่อ คนที่ 4 เป็นชาย อายุ 31 ปี บาดเจ็บที่ศีรษะ ได้รับการผ่าตัดตั้งแต่คืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์
อาการดีขึ้นกว่าวันแรก ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนอีก 10 คน นอนพักที่ห้องพิเศษ ส่วนใหญ่มีบาดแผลฉีกขาด กระดูกหัก ต้องรักษาบาดแผลต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งหมดอาการปลอดภัย ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
"ขอให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ ญาติผู้บาดเจ็บทุกคน รวมทั้งทีมรักษา ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลรักษาให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่รักษาให้รอดชีวิตอย่างเดียว" นายอนุทิน กล่าว
สำหรับการเฝ้าระวังคัดกรองเยียวยาด้านจิตใจ ทีมเอ็มแคท (MCATT) ของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 และโรงพยาบาลในเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 9 ได้ร่วมกันคัดกรองผู้ประสบเหตุผู้ใกล้ชิด และประชาชน
ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบันแล้ว จำนวน 2,038 คน พบผู้มีความวิตกกังวล ต้องติดตามอาการใกล้ชิด 330 คน และร้อยละ 13 อาการรุนแรงต้องรับคำปรึกษา พบจิตแพทย์ หรือต้องรับยา
ส่วนใหญ่เป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต โดยในขณะนี้ได้ตั้งจุดบริการ “คลินิกหมอใจ” ที่ห้างเทอมินอล 21 เพื่อให้คำปรึกษา เยียวยาผู้ที่ยังมีความวิตกกังวลกับเหตุการณ์ มีผู้รับบริการเฉลี่ย 100 คน ต่อวัน
06 กรกฎาคม 2563
ผู้ชม 2778 ครั้ง