วิศวกรรมโรงพยาบาล ออกแบบ อาคารแยกโรค 3 ชั้น ป้องกันการแพร่เชื้อ ไข้หวัด ไวรัสโคโรนา ในโรงพยาบาล

บทความ

วิศวกรรมโรงพยาบาล ออกแบบ อาคารแยกโรค 3 ชั้น ป้องกันการแพร่เชื้อ ไข้หวัด ไวรัสโคโรนา ในโรงพยาบาล

#ไวรัสโคโรนา อาคารแยกโรค 3 ชั้น , ป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล , กรม สบส. - News Update วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์  2563 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จัดทำต้นแบบ อาคารแยกโรค 3 ชั้น

ป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ประสิทธิภาพสูง ประหยัดค่าก่อสร้าง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานได้จริง ปลอดภัยทั้งผู้ป่วยระบบทางเดินทางเดินหายใจ และบุคลากรทางการแพทย์

เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสังคม สุขภาพ สาธารณสุข ท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึง ห้องแยกโรคติดเชื้อ

เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลในการจัดการผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อจากบุคคลหนึ่งสู่บุคคลหนึ่ง

โดยเฉพาะผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ที่สามารถแพร่เชื้อโรคแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ได้ โรงพยาบาลจะมีห้องแยกโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

ซึ่งโดยปกติแล้ว การก่อสร้างห้องแยกโรคนั้นมีต้นทุนต่อหนึ่งเตียงสูงมากต้องติดตั้งอุปกรณ์ราคาแพง ทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่สามารถก่อสร้างห้องแยกโรคติดเชื้อได้เพียงพอต่อความต้องการได้

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองแบบแผนจึงได้จัดทำ ต้นแบบอาคารแยกโรคติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ที่มีประสิทธิภาพสูง

ประหยัดค่าก่อสร้าง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานได้จริง ปลอดภัยต่อทั้งผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์

อาคารแยกโรคติดเชื้อ 3 ชั้น สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 28 เตียง แบ่งออกเป็น ห้องแยกโรคแบบห้องรวม 18 เตียง ห้องแยกโรคแบบห้องเดี่ยว 2 เตียง และห้องพิเศษ 8 เตียง 

มีการระบายอากาศแบบผสมผสาน ด้วยการใช้ระบบเครื่องกลสมรรถนะสูงปรับอากาศ และด้วยวิธีแบบธรรมชาติในบางพื้นที่ โดย  ชั้นที่ 1  เป็นห้องติดต่อสอบถาม ลงทะเบียนผู้ป่วย ห้องจ่ายยา ที่พักรอ ห้องเอกซเรย์ และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

ชั้น 2 เป็นห้องผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อแบบห้องรวม และห้องแยกโรคเดี่ยว ชั้น 3 เป็นห้องพิเศษ ซึ่งเป็นห้องพักเดี่ยวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบครัน

มีการกั้นแบ่งพื้นที่ที่เอื้อให้บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล สามารถติดตาม มองเห็นผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด บริเวณชั้น 1 มีการประยุกต์ให้สามารถใช้การระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ

โดยในกระบวนการออกแบบอาคาร ได้นำแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (BIM Model) มาตรวจวัดสมรรถนะอาคารด้านการระบายอากาศ ด้วยการใช้โปรแกรม Autodesk CFD Simulation เพื่อศึกษาการระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติของโถงพักคอยหลักชั้น 1 ให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก

ป้องกันการแพร่เชื้อทางระบบทางเดินหายใจจากผู้ป่วยสู่ผู้อื่น และลดการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ อาคารนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับ    ผู้พิการ ได้แก่ ลิฟท์ ทางลาดบันได ที่เป็นไปตามมาตรฐาน

ทั้งนี้ กองแบบแผน ได้ทำการตรวจวัดสมรรถนะด้านพลังงานของอาคารนี้ด้วยเครื่องมือ Building Performance Simulation (BPS)

โดยการใช้ระบบ Insight 360 พบว่าแบบอาคารหลังนี้ใช้พลังงานต่อตารางเมตรต่อปี น้อยกว่าอาคารอ้างอิงของเกณฑ์ TREES ของสถาบันอาคารเขียวไทย สูงถึง 37.90%

ทำให้อาคารนี้ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เครื่องมือและกระบวนการดังกล่าวนั้น จะสามารถทำให้ผู้ใช้อาคารมั่นใจถึงประสิทธิภาพของอาคารหลังนี้ได้

นอกจากนี้ อาคารนี้ได้ใช้ระบบแบบจำลองสารสนเทศในกระบวนการออกแบบนั้น ทำให้ผู้ใช้อาคารสามารถปรับเปลี่ยนแบบให้สอดคล้องตามความต้องการได้อย่างสะดวก

และอาคารนี้ใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน มีความคุ้มค่าเหมาะสมกับการนำไปใช้ในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่สนใจ ต้นแบบอาคารผู้ป่วยแยกโรค 3 ชั้น สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ดร.ณัฐสิทธิ์ สมบูรณ์วิทย์ กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

28 กุมภาพันธ์ 2563

ผู้ชม 3279 ครั้ง

Engine by shopup.com