ทยอยจับต้มตุ๋นขาย หน้ากากอนามัยใช้แล้ว เหมาเป็นกระสอบ ใช้เครื่องซักผ้า เตารีด ที่บ้าน แถมใช้เด็กวัยรุ่น QC คัดแยกชิ้นส่วน
ทยอยจับต้มตุ๋นขาย หน้ากากอนามัยใช้แล้ว เหมาเป็นกระสอบ ใช้เครื่องซักผ้า เตารีด ที่บ้าน แถมใช้เด็กวัยรุ่น QC คัดแยกชิ้นส่วน
- News Update วันพุธที่ 4 มีนาคม 2563 ทยอยจับ นักต้มตุ๋นขาย หน้ากากอนามัย ใช้แล้วจำนวนมาก สาธารณสุข ชี้หน้ากากอนามัยใช้ได้ครั้งเดียว นำมาซักใช้ซ้ำไม่ได้ อาจปนเปื้อนเชื้อโรค แนะประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าเมื่อต้องเข้าไปในที่ชุมชน
จากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส หรือ COVID-19 ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างหนักไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว ประชาชนก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสังคม สุขภาพ สาธารณสุข ท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า ขณะนี้มีผู้ค้าหน้ากากอนามัยหลายราย ฉวยโอกาสขึ้นราคาและ นำสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาขาย หรือ พวกที่ใช้แล้ว นำไปทิ้ง แล้วมีคนมาเก็บไปขายในร้านรับซื้อของเก่า
โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะไปเหมามาทีละกระสอบ แล้วจัดการ ใช้เครื่องซักผ้า เตารีด ที่บ้าน ซักจนขาวเหมือนใหม่ บรรจุกล่องอย่างดี
ซึ่งหน้ากากอนามัย เป็นผลิตภัณฑ์ ที่แบ่งออกเป็นสองแบบแบบแรกคือ หน้ากาก N 95 เฉพาะที่ใช้งานทางการแพทย์และป้องกันเชื้อโรคเท่านั้น ที่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ใช้ตามโรงพยาบาล ส่วนที่ไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ มีลักษณะที่ใช้ปิดปาก ป้องกันฝุ่นเล็กๆ น้อย
รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการและอดีตอาจารย์ ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผลการตรวจสอบหน้ากากอนามัยของ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
ที่เจ้าตัวระบุใช้เงินเดือน ส.ส. ซื้อมาแจกให้ประชาชน เพื่อป้องกัน COVID-19 จำนวน 10,000 ชิ้น แต่ผลการตรวจพบว่าเป็นของที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นอันตรายเมื่อสูดดมเข้าไป เพราะเป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนั้น
ส่วน นายสิระ เจนจาคะ เปิดเผยยืนยันว่า หน้ากากที่แจกเป็นการสั่งซื้อออนไลน์ ที่ใช้เงินเดือน ส.ส. ของตัวเอง จำนวน 10,000 ชิ้น
ชิ้นละ 14.75 บาท รวมเป็นเงิน 147,500 บาท ซึ่งโรงงานที่สั่งซื้อ ผู้ที่ขายให้ตนระบุว่าได้มาตรฐาน แต่เมื่อได้คุยกับ รศ. ดร.วีรชัย จึงทำให้รู้ว่าไม่ได้มาตรฐานจริง ดังนั้นตนจะหยุดแจกแม้จะเพิ่งสั่งซื้อล็อต 2 ไปอีก 4,000 ชิ้น และได้ติดต่อยกเลิก ขอเงินคืนเรียบร้อยแล้ว
ส่วน กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วิหารแดง จ.สระบุรี พร้อมด้วยนายอำเภอวิหารแดง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และนักวิชาการสาธารณสุข เข้าตรวจสอบที่บ้านหลังหนึ่ง
โดยพบว่ามีการลักลอบนำเอา หน้ากากอนามัยใช้แล้ว เข้ามาย้อมแมวบรรจุใส่กล่อง ขายออกไปตามท้องตลาด ภายหลังจาก COVID-19 ระบาด
พล.ต.ท. ชัยวัฒน์ อรัญวัฒน์ ผบก.ภจว.สระบุรี พ.ต.อ. ไพโรจน์ ตีรโสภณ ผกก.สภ.วิหารแดง แถลงข่าวจับกุม 3 ผู้ต้องหา คือ น.ส.จินตนา นามวิชัย, น.ส.วีราภรณ์ ธงสันเทียะ และ น.ส.พิมพ์วลัญช์ จำรัสศรี
โดยมีพฤติการณ์ รับซื้อหน้ากากอนามัยมือสอง จากร้านขายของเก่า มาทำการคัดแยกหน้ากากอนามัยที่สภาพดี
เอาเข้าเครื่องซัก นำไปตากให้แห้ง แล้วรีดให้เรียบ ก่อนจะนำไปบรรจุลงกล่อง จำหน่ายทางเฟสบุ๊ค "ใจว่าง วางไว้เพื่อใส่บุญ" และขายโดยตรงในราคาชิ้นละ 3 บาท โดยขายไปแล้วเกือบ 200,000 ชิ้น
ตนได้สั่งการให้ตำรวจไปตามแกะรอยว่าสินค้าที่ผู้ต้องหาจำหน่ายออกไปนั้น มีเส้นทางไปไหนยังไงบ้าง เพื่อที่จะดูว่ามีคนที่มีส่วนทำผิดอีกหรือไม่
เบื้องต้นทราบว่าร้านที่ขายของเก่าที่ปล่อยหน้ากากอนามัยมือสองมาให้ผู้ต้องหานั้น ไม่ทราบว่าผู้ต้องหาจะเอามาย้อมแมวขาย ส่วนคนที่ซื้อหน้ากากจากผู้ต้องหาไปสามารถเข้ามาให้ปากคำได้ที่ สภ.วิหารแดง
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วิหารแดง จ.สระบุรี ได้นำกำลังตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว พบหน้ากากอนามัยใช้แล้วจำนวนมาก กองอยู่โดยรอบของบ้าน
นอกจากนี้ พบชายวัยรุ่น 6 คน ทำหน้าที่ QC คัดแยกชิ้นส่วนหน้ากากอนามัย (Quality Control) ( หมายถึง การควบคุมคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ ) รีไซเคิลหน้ากากอนามัย
บางคนทำหน้าที่ใช้เตารีด รีดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้เรียบเนียน เหมือนหน้ากากอนามัยใหม่ ให้ดูเหมือนยังไม่ได้เคยใช้งานมาก่อน
อีกทั้งพบเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ 1 เครื่อง กล่องกระดาษขนาดใหญ่หลายใบ ภายในบรรจุหน้ากากอนามัยที่ผ่านการคัดแยกแล้ว และยังไม่ได้คัดแยกอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่ามีจำนวนหลายหมื่นชิ้น
บ้านดังกล่าวเป็นของ นางจินตนา อายุ 47 ปี แต่เจ้าตัวไม่อยู่บ้าน แต่มีนายนนท์ อายุ 17 ปี ลูกชาย ทำหน้าที่ดูแลและคุมคนงานอยู่
พร้อมให้การว่านางจินตนา เดินทางไปต่างจังหวัด ส่วนหน้ากากอนามัยที่พบนั้น นางจินตนาไปประมูลมาจากโรงงานอุตสาหกรรม
โดยว่าจ้างกลุ่มวัยรุ่นมาทำงานคัดแยกหน้ากากอนามัย ให้ค่าจ้างชิ้นละ 1 บาท แต่ละคนทำได้วันหนึ่ง 300-400 ชิ้น
นายสมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอวิหารแดง ได้ต่อสายโทร. คุยกับนางจินตนา ทราบว่านำหน้ากากอนามัยมาจากโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง แต่ไม่บอกว่าที่ใด
และอ้างว่า นำหน้ากากอนามัยเหล่านี้มาคัดแยก เพื่อนำเหล็กในหน้ากากอนามัยไปหลอมละลายและนำแร่เหล็กไปขาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ
ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา กับผู้ต้องหา 3 คน แยกเป็นผู้ครอบครองสถานที่ 2 คน และผู้นำหน้ากากอนามัยใช้แล้วไปขายอีก 1 คน ได้แก่
มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และ พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 มาตรา 4 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบอาชีพขายทอดตลาด หรือค้าของเก่าเว้นแต่จะได้รับอนุญาต ประกอบกับมาตรา 12 ผู้ใดประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ยอมรับสารภาพแล้วว่านำ หน้ากากอนามัย ใช้แล้วไปขายต่อจริง แต่ไม่ได้ตั้งใจทำ พร้อมยอมรับว่าไม่กล้าใช้ของที่นำไปขายด้วย
ด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์กรณีข่าวการจับกุมผู้นำ หน้ากากอนามัย ใช้แล้วมาจำหน่าย ว่า
การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมาย หลอกลวง และเป็นอันตรายต่อประชาชน
เนื่องจากหน้ากากอนามัยออกแบบเพื่อการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่สามารถซัก รีด และนำกลับมาใช้ใหม่ได้
และอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรค ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังผู้ที่ฉวยโอกาส ควรซื้อจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน
การใช้หน้ากากป้องกันโรคควรใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่นบุคลากรการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรง
ควรใช้ชนิด N95 ส่วนกลุ่มบุคลากรที่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจทุกโรค และผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น บุคลากรสาธารณสุขที่ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้า
เมื่อต้องเข้าไปในแหล่งชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น หรือใช้รถขนส่งสาธารณะ ซึ่งข้อดีของหน้ากากผ้า คือสามารถนำมาซักให้สะอาดแล้วใช้ซ้ำได้อีก และเย็บใช้ได้เอง
04 มีนาคม 2563
ผู้ชม 1806 ครั้ง