ประกาศมาตรการ 15 ข้อ ! "กระทรวงแรงงาน" พร้อมช่วยเหลือ ลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกอบการ

บทความ

ประกาศมาตรการ 15 ข้อ ! "กระทรวงแรงงาน" พร้อมช่วยเหลือ ลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกอบการ

MEDHUB NEWS : กระทรวงแรงงาน

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ประกาศมาตรการ 15 ข้อ ของทางกระทรวงแรงงานที่ช่วยเหลือ ลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกอบการ โดยกล่าวว่า "มาตรการทั้ง 15 ข้อ ได้ครอบคลุมถึงทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงานทั้งหมด เพื่อที่จะ ช่วยเหลือ เยียวยาพี่น้องแรงงานในทุกๆด้าน พร้อมทั้ง ทำงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงแรงงานและภาคประชาชน" ทั้งนี้ยังฝากส่งกำลังใจถึงพี่น้องแรงงาน และผู้ประกอบการ ทุกคน ให้ต่อสู้วิกฤต COVID-19 ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน เราจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

สรุปมาตรการกระทรวงแรงงาน

1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงาน

2. ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ COVID-19 รวมถึงมาตรการป้องกัน

3. ปรับรูปแบบศูนย์บริการ OSS โดยยืดเวลาต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

4.ผู้ประกันตนตรวจและรักษาฟรี COVID-19 ณ รพ.ตามสิทธิ หรือ รพ.อื่นในกรณีฉุกเฉิน

5. เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน กรณีไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุ COVID-19 (คำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) จ่ายสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน

5.1 หากผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย (COVID-19) ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามจริง ไม่เกิน 180 วัน (ผู้ประกันตนมาตรา 33)

5.2 หากภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว เนื่องจาก COVID-19 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามจริง ไม่เกิน 60 วัน (ผู้ประกันตนมาตรา 33)

6.เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน กรณีต้องออกจากงาน (คำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) จ่ายสูงสุดไม่เกิน 10,500 บาทต่อเดือน

6.1 ลาออกจากงาน ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

6.2 ถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน

7. ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้างเหลือร้อยละ 4 ผู้ประกันตนเหลือร้อยละ 1 เป็นเวลา 3 เดือน (มีนาคม - พฤษภาคม 2563)

8. ยืดเวลานำส่งเงินสมทบทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนสำหรับเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ออกไปอีก 3 เดือน

9. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท

10. เปิดเพจ “เสิร์ฟงานด่วน”

11. มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ

11.1 โครงการจ้างงานเร่งด่วน ค่าตอบแทน 300 บาท/วัน (เมษายน – กันยายน 2563) จำนวน 7,740 ตำแหน่ง

11.2 ฝึกทักษะอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการฝึกการประกอบอาชีพอิสระของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป้าหมาย 7,800 คน เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น โครงการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ของกรมการจัดหางาน เป้าหมาย 2,000 คน และการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้านของกรมการจัดหางาน

12. พัฒนาทักษะฝีมือ (Up – skill/Re – skill) แก่กลุ่มแรงงานในระบบ เช่น เสริมทักษะภาษาต่างประเทศ, ทักษะคอมพิวเตอร์ เป้าหมาย 7,000 คน รวมถึงการทำความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ และภาคเอกชน

13. โครงการจ้างบัณฑิตที่ว่างงาน เพื่อให้เป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ งบประมาณจำนวน 401.99 ล้านบาท จำนวน 1,682 ตำแหน่ง

14. ดำเนินการสร้างความเข้าใจที่ดีในระบบแรงงานสัมพันธ์ก่อนใช้มาตรการมาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

15. ให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 15.1 ลดสัดส่วนลูกจ้างที่ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานจากร้อยละ 50 เหลือ ร้อยละ 10

15.2 ขยายระยะเวลาการยื่นรับรองหลักสูตรและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมจาก 60 วัน เป็น 120 วัน

15.3 ขยายระยะเวลาการยื่นประเมินเงินสมทบออกไป 4 เดือน

15.4 ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับลูกหนี้ใหม่ จาก 12 เดือน เป็น 18 เดือน

15.5 พักชำระหนี้เงินกู้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับลูกหนี้เก่า เป็นเวลา 6 เดือน

15.6 ลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ จากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 7.5

29 มีนาคม 2563

ผู้ชม 852 ครั้ง

Engine by shopup.com