อ่านกันชัดๆ โพสต์คำว่า เบียร์-แก้วเบียร์ ถูกปรับ 50,000 บาท ตามที่แชร์กัน จริงหรือ มั่ว

บทความ

อ่านกันชัดๆ โพสต์คำว่า เบียร์-แก้วเบียร์ ถูกปรับ 50,000 บาท ตามที่แชร์กัน จริงหรือ มั่ว

โพสแก้วเบียร์ : อ่านกันชัดๆ โพสต์คำว่า เบียร์-แก้วเบียร์ ถูกปรับ 50,000 บาท ตามที่แชร์กัน จริงหรือ มั่ว

News Update วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2563  : กรณี เพจดังเล่าประสบการณ์ตรง โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วโดนจับปรับ 5 หมื่นบาท พร้อมแนะวิธีโพสต์อย่างไรถึงจะผิด กรมควบคุมโรค ชี้แจงประเด็นการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงสื่อสังคมออนไลน์

เช่น ห้ามโพสต์แก้วเบียร์ที่มียี่ห้อ ห้ามแปลข่าว เขียนเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ถึงแม้ว่าจะไม่มีขายในบ้านเราแต่ก็เป็นเหตุแรงจูงใจในการบินไปหาซื้อบริโภคได้ เวลาไปเที่ยวห้ามถ่ายภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่มีขายในไทยมาลง เพราะอาจจะทำให้เกิดความอยากกินและบินไปซื้อได้

ห้ามถ่ายของแถมที่มีโลโก้แอลกอฮอล์ ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นแอลกอฮอล์ก็ตาม เพราะถือว่าถ้าจะซื้อของแถมก็ต้องซื้อสุราหรือเบียร์อยู่ดี โพสต์เก่าผ่านไปกี่ปี ถ้ายังมีภาพแอลกอฮอล์ก็โดนหมด และเป็นความผิดได้

ล่าสุด เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสังคม สุขภาพ สาธารณสุข ท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็นการแชร์ข้อมูลที่เป็นกระแสข่าวโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

วันนี้ (12 มิถุนายน 2563) นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กล่าวชี้แจงประเด็นการแชร์ข้อมูลที่เป็นกระแสข่าวในโลกออนไลน์

สาเหตุเกิดจากการที่ผู้กระทำความผิดได้โพสต์ถึงกรณีที่ตนเองถูกเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปพบและเสียค่าปรับ จึงได้มีการโพสต์เรื่องราวต่างๆ เพื่อให้ประชาชนลงชื่อยกเลิกมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

ซึ่งเป็นมาตราที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้น  กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า จากกระแสข่าวที่มีการตีความมาตราดังกล่าวนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ซึ่งในมาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 ส่วนด้วยกัน

ดังนี้ 1.ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ

2 ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว 

ดังนั้น การที่ประชาชนโพสต์ภาพขวดเหล้าเบียร์ หรือแก้วเบียร์ที่มีโลโก้เบียร์ จึงยังไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายนี้  จากกระแสข่าวเมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีดารา เน็ตไอดอล หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงเข้ามาพบพนักงานเจ้าหน้าที่

เพราะมีการโพสต์ภาพคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งบุคคลที่มีชื่อเสียงกับบุคคลทั่วไปมีความแตกต่างกัน ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปโพสต์ภาพคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยที่ไม่มีข้อความเชิญชวนอวดอ้างชักจูงใจก็จะไม่เป็นความผิด แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหันมาสนใจสินค้ามีผลเป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงไม่สามารถทำได้

นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามีผู้กระทำความผิดในกรณีนี้มาโดยตลอด แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ร้านค้าต่างๆ ถูกสั่งปิดและห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีการหันมาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

จากข้อมูลช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 เรื่องร้องเรียนผ่านระบบเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (TAS) มีจำนวนถึง 174 เรื่อง

จึงได้มีการออกหนังสือเรียกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นข้อมูลและเป็นการเปิดโอกาสให้เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง หากไม่เกี่ยวข้องก็สามารถแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมแสดงพยานหลักฐานได้ ซึ่งโทษความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นโทษตามกฎหมาย คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ถ้าเป็นการโฆษณาของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะปรับ 500,000 บาท โดยมีการกำหนดอัตราการเปรียบเทียบปรับไว้ด้วย  ซึ่งการปรับตามกฎหมายนี้ไม่มีการผ่อนจ่ายเป็นงวดตามที่เป็นข่าว

17 มิถุนายน 2563

ผู้ชม 2307 ครั้ง

Engine by shopup.com