6 ปีที่รอคอย รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นั่ง “อธิการบดี ม.บูรพา” เต็มตัว สะท้อนสังคมตื่นตัว แก้ปัญหาธรรมาภิบาล
6 ปีที่รอคอย รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นั่ง “อธิการบดี ม.บูรพา” เต็มตัว สะท้อนสังคมตื่นตัว แก้ปัญหาธรรมาภิบาล
News Update วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 : จนป่านนี้ นักศึกษาบางคน หรือ สังคมยังสับสน ไม่รู้ว่า ใครเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพาตัวจริง
ระหว่าง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมพล พงศ์ไทย กับ รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก เพราะรักษาการแทนอธิการบดี มานาน (
ขณะที่ข้อมูล จากแหล่งอ้างอิง ยังระบุว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมพล เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ( วิกิพีเดีย )
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ รายงานว่า มหาวิทยาลัยบูรพา ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สำคัญมากกับการผลิตบุคลากรทางการแพทย์
Burapha University
เพราะผลิตบุคลากรคุณภาพมากมายประกอบด้วย คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
คณะสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ โครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์
หลังจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดี 4 มหาวิทยาลัย
โดยมีที่น่าสนใจ ดังนี้ ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมพล พงศ์ไทย ให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ นั้น
เนื่องจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมพล พงศ์ไทย ได้ดำรงตำแหน่งจนครบกำหนดตามวาระแล้ว และต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่ง ที่ ๓๙/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒/๒๕๕๙
ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่องการกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สกอ. ๑๔๔๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๙
และ ที่ สกอ. ๑๓๒๐/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา อธิการบดีหรือผู้รักษาการแทนอธิการบดี และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา
ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และแต่งตั้งคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยบูรพาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นมา
และในการประชุมคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยบูรพา ครั้งที่ ๒๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ การประชุมลับ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ การประชุมลับ ครั้งที่ ๕/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
และการประชุมลับ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอขอพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา
ตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่โดยที่ได้มีการร้องเรียนและขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาอธิการบดีที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
จึงขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว
บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓
จาก เหตุการณ์การสรรหา "อธิการบดี" ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเหตุการณ์ล่าสุด เป็น 6 ปีที่รอคอย “อธิการบดี ม.บูรพา” ตัวจริง และ แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา
จากวันที่ 31 พ.ค. 57 ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพาคนปัจจุบัน หมดวาระลง
20 พ.ย. 56 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยบูรพาประชุม เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ตามระเบียบของข้อบังคับของมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยคุณสมบัติและการสรรหาอธิการบดี พ.ศ.2552
นอกจากนี้ ระเบียบยังระบุว่า จะต้องมีการสรรหาอธิการบดี 150 วัน ก่อนถึงวันหมดวาระของผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ทั้งนี้ กรรมการสรรหา 7 คน มีดังนี้
ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานกรรมการสรรหา
นายมินทร์ อิงค์ธเนศ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
นายโอภาส เขียววิชัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
รศ.ดร.วีรพงศ์ วุฒิพันธุ์ชัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเภทผู้แทนคณาจารย์
นายเจริญ จุรีกานนท์ ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย
นายครรชิต ดอกไม้คลี่ ประธานสภาพนักงาน
ดร.สาธิต ปิติวรา นายกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยบูรพา
12 ธ.ค. 56
การเปิดตัวผู้ที่ประสงค์เข้ารับการสรรหา ซึ่งมี ศ.ดร.สุชาติ อุปถัมภ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา 2 สมัย เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่ง
21 ธ.ค. 56
กรรมการสรรหาประชุมกำหนดหลักเกณฑ์ และน้ำหนักของการสรรหา 4 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณธรรม 30 คะแนน ด้านการบริหาร 40 คะแนน ด้านผู้นำ 20 คะแนน และด้านมนุษยสัมพันธ์ 10 คะแนน
23 ธ.ค. 56-24 ม.ค. 57
ช่วงระยะเวลาในการเสนอชื่อ และลงสมัครชิงเก้าอี้
15 ม.ค. 57 ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพาในขณะนั้น เสนอตัวเข้าชิงเก้าอี้ด้วยเช่นกัน
31 ม.ค. 57
ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ครั้งที่ 3/2557 มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครจำนวน 9 คน
ประกอบด้วย รศ.ชารี มณีศรี พ.อ.ดร.ธนณัฐ ยังเฟื่องมนต์ อาจารย์ธวัชชัย เอี่ยมไพโรจน์ ดร.ธีรัตม์ พิริยะพลิน ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช ดร.พิชัย สนแจ้ง ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์ และ ศ.ดร.สุชาติ อุปถัมภ์
13 ก.พ. 57
ผู้มีรายชื่อทั้ง 9 คน แสดงวิสัยทัศน์ ต่อหน้าคณะกรรมการสรรหาฯ ภายใต้แนวคิด "การพัฒนามหาวิทยาลัยบูรพาในอีก 4 ปีข้างหน้า" เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 3 คนสุดท้าย ก่อนจะส่งต่อกระบวนการคัดเลือกทั้งหมด ให้แก่สภามหาวิทยาลัยบูรพาเคาะผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไป
18 มี.ค. 57
เป็นวันที่หน้าที่ของกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการมาถึงที่สิ้นสุด ก่อนจะเสนอ 3 รายชื่อ ให้แก่สภาฯ ได้พิจารณาต่อไป โดย 3 รายชื่อนั้น ได้แก่
รศ.ชารี มณีศรี
ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช
ศ.ดร.สุชาติ อุปถัมภ์
19 มี.ค. 57
ถึงวาระการประชุมของสภาฯ ที่มี ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา แต่วันนั้นไม่ได้เข้าประชุม เนื่องจากป่วย
จึงมอบหมายให้ ศ.ดร.พจน์ สะเพียรชัย เป็นประธานในการประชุมแทน ซึ่งในที่ประชุมมีความวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อมีพนักงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุน ศ.นพ.สมพล ใส่ชุดดำ ประท้วงคัดค้าน
และสอบถามถึงสถานภาพของ 1 ในคณะกรรมการสรรหา นั่นคือ ดร.สาธิต ปิติวรา นายกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยบูรพา ว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ
และขอให้สำนักงานการอุดมศึกษา และสำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่าถูกต้องหรือไม่ จากนั้นมีกรรมการในที่ประชุมคนหนึ่ง เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความใหม่อีกครั้ง
20 พ.ค. 57
หนังสือตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งถึงมหาวิทยาลัย โดยระบุว่า สถานภาพของ ดร.สาธิตนั้นถูกต้องตามกฎหมาย
21 พ.ค. 57
ศ.ดร.เกษม กลับมานั่งประธานในที่ประชุมอีกครั้ง หลังจากหายป่วย โดยมีวาระการประชุมเพื่อคัดเลือกอธิการบดี ด้วยวิธีการโหวตลับ แต่ยังมีการดึงวาระของสถานภาพ ดร.สาธิต มาพิจารณาอีกครั้ง
ซึ่งทำให้ที่ประชุมกว่า 2 ชม. มีความวุ่นวาย จนกระทั่ง ศ.ดร.เกษม ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และลงลายลักษณ์อักษร ศธ.6601/264 ลงเมื่อวันที่ 21 พ.ค.57 พร้อมกับมอบหมายหน้าที่ให้ ศ.ดร.พจน์ สะเพียรชัย อุปนายกสภาฯ ทำหน้าที่รักษาราชการ
24 พ.ค. 57
สภาฯ เรียกประชุมวาระพิเศษ ซึ่งตรงกับช่วง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจ และประกาศให้สถาบันการศึกษาหยุดทำการตั้งแต่ 23-25 พ.ค.57
โดยในการประชุมนั้น มีการลงมติแต่งตั้งให้ ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.57 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ ทั้งนี้ อ้างอิงตามประกาศมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ สภา ม. 002/2557 ลงวันที่เมื่อ 24 พ.ค.57
29 พ.ค. 57 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ประชุมแต่งตั้งคณะทำงาน 16 ตำแหน่ง ซึ่งไม่มีวาระการสรรหาอธิการบดี
6 มิ.ย. 57 ผศ.ดร.บรรพต 1 ใน 3 ผู้เข้ารอบสุดท้าย เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล และเห็นว่า กระบวนการล่าช้าเกิดเหตุ จึงส่งฟ้องศาลปกครองระยอง เพื่อให้เร่งกระบวนการสรรหา
โดยมีผู้ถูกฟ้อง 3 คน ได้แก่ สภามหาวิทยาลัย ที่ 1 นายกสภามหาวิทยาลัยบูรพาที่ 2 และเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ที่ 3 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
15 มิ.ย. 57 นายวัชรพงศ์ ศุภภา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมศิษย์เก่าประมาณ 500 คน รวมถึง ดร.สาธิต บรรยายพิเศษหัวข้อ บทบาทของศิษย์เก่าในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยบูรพา
พร้อมทั้งชี้แจงให้ทราบถึงสถานภาพของนายกสมาคมศิษย์เก่า นอกจากนี้ ศิษย์เก่าที่เข้าร่วมสัมมนา ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งรักษาการแทนอธิการบดีที่ไม่ถูกต้อง
16 มิ.ย. 57 ศาลปกครองระยองไต่สวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น
18 มิ.ย. 57 ศาลปกครองระยองสั่งประชุมสภามหาวิทยาลัยไม่เกินวันที่ 2 ก.ค.57 เพื่อหาผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่
จากไทม์ไลน์ของเหตุการณ์แล้ว เบื้องลึกของเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถแยกเป็นประเด็น ดังนี้
ศ.ดร.สุชาติ อุปถัมภ์ ผู้เคยนั่งเก้าอี้นี้มาแล้วถึง 2 สมัย แต่เนื่องจากระเบียบของมหาวิทยาลัย ไม่สามารถนั่งได้ติดต่อกัน 3 สมัย ทำให้ส่งตัวแทน นั่นคือ ศ.นพ.สมพล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพาคนปัจจุบัน ลงชิงเก้าอี้แทน และได้รับการคัดเลือก โดยมี ศ.ดร.สุชาตินั้น เป็นที่ปรึกษาให้
ทั้งนี้ เมื่อครบวาระอีกครั้ง ศ.ดร.สุชาติ กลับมาลงสมัครอีกรอบ ขณะเดียวกัน ศ.นพ.สมพล ก็ลงชิงเก้าอี้นี้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะแต่ละคนนั้นมีฝ่ายสนับสนุนของตัวเอง แต่ ศ.นพ.สมพลไม่ได้ถูกคัดเลือกเข้าเป็น 1 ใน 3 คนสุดท้ายโดยแต่ละท่าน มีกลุ่มสนับสนุน ซึ่งภายในมีความขัดแย้งมานาน มีแบ่งฝ่ายกัน
ปมปัญหา "แต่งตั้งไม่เป็นธรรม" และ "ไม่ชอบมาพากล" ในครั้งนี้ หากต้องการแต่งตั้งใครเป็น "อธิการบดีรักษาการ" ควรจะเป็นคนกลาง
เป็นคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสรรหา มากกว่าคนที่ลงรับสมัครชิงเก้าอี้ด้วย แต่ไม่ถูกคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 คนสุดท้าย ซึ่งในส่วนนี้ อาจทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ศ.นพ.สมพล และ ศ.ดร.พจน์ ที่อาจมีจุดยืนเช่นเดียวกัน
ตามธรรมเนียมปฏิบัตินั้น คนที่เป็นอธิการบดีรักษาการ ไม่ควรเป็น 9 คน ที่มาชิงเก้าอี้กัน แล้วครั้งนี้คนที่เป็นรักษาการ ยังลงแข่ง แต่ไม่มีชื่อ 1 ใน 3 ไม่ควรเสียมารยาท อาจเพราะมีฐานอำนาจเดิมอยู่
จากนั้นก็มีเรื่องราวเป็นสตอรี่มากมาย กระทั่งต้นปี 2562 กระบวนการสรรหามีมติเอกฉันท์เลือก รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นั่งอธิการบดี ในตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา
การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาล ในระบบการศึกษาของไทย ได้ยกระดับขึ้นมาแล้ว เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา อย่างเต็มตัว และ ถูกต้องตามกฎหมาย
จะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาล ในยุค 2020 สังคมให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ระบบการศึกษา และ ระบบสาธารณสุข !
02 กรกฎาคม 2563
ผู้ชม 5923 ครั้ง