พ.ร.บ.นมผง เข้มงวดหนัก ห้ามโฆษณา ทำกิจกรรมการตลาด ! แต่ยังพบมีแอบโฆษณาแฝง ว็บไซต์สุขภาพ Medhubnews.com เมดฮับ นิวส์ ( Med Hub News )

บทความ

พ.ร.บ.นมผง เข้มงวดหนัก ห้ามโฆษณา ทำกิจกรรมการตลาด

หลังจาก ศาสตราจารย์คลินิก  เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์แดเนียล เอ. เคอร์เทสซ์(Dr.Danniel A. Kertesz) ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประเทศไทย นายโธมัส ดาวิน (Mr.Thomas Davin)  ผู้แทนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)

และแพทย์หญิงศิริพร  กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ประกาศพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  

กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือพ.ร.บ. นมผง ซึ่งมีผลบังคับ 8 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็ก

โดยควบคุมการส่งเสริมการตลาด ผ่านสื่อโฆษณาและวิธีการลดแลกแจกแถม ของผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือผลิตภัณฑ์นมผงให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ บรรลุเป้าหมายให้เด็กทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 50 ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสมในปี 2568 

ตามหลักที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ หรือ “1-6-2” คือกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น

ด้านนายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อ้างอิงจากหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) หรือโค้ดนม

ซึ่งเป็นข้อแนะนำสากลที่มีการตกลงกันระหว่างนานาประเทศในเวทีสมัชชาอนามัยโลกในปี ​2524 ที่ผ่านมาไทยได้นำโค้ดนมมาใช้โดยขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจแบบสมัครใจ เพื่อควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และปรับปรุงเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2551

แต่ยังพบการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอย่างไม่เหมาะสมอยู่ จึงผลักดันให้มี พ.ร.บ. นมผงฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะนี้ กรมอนามัยได้จัดระบบและมอบหมายบุคลากรให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเฝ้าระวังการละเมิดและฝ่าฝืนกฎหมาย และสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจในปี 2558 พบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 6เดือนร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และแม่ที่สามารถให้นมลูกได้ถึง 2 ปี มีเพียงร้อยละ 16                                                                      

แพทย์หญิงศิริพร  กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีบทบาทในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปกป้องหญิงตั้งครรภ์และแม่หลังคลอดให้รู้เท่าทันถึงกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด การโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กต่างๆ

โดยผ่านทางเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม จดหมายข่าว นิตยสารแชมเปี้ยนนแม่ และชุดความรู้ต่างๆ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์และแม่หลังคลอด ได้รับการปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนจากทุกฝ่าย สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมอนามัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขยายเครือข่ายมุมนมแม่ในสถานประกอบการ ขณะนี้ ทั่วประเทศมีมุมนมแม่ 1,004 แห่ง องค์กรต้นแบบ 16 แห่ง และศูนย์เรียนรู้ 5 แห่งที่เป็นเครือข่ายที่มีนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เอื้อเฟื้อการจัดตั้งมุมนมแม่ และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบีบเก็บน้ำนมของแม่ทำงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่แม่ให้นมลูกได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าทางบริษัทนมผงได้เปลี่ยนไปใช้กลยุทธิ์ทางด้านส่งเสริมการขายใหม่ๆ อีกด้วย 

05 มกราคม 2562

ผู้ชม 3116 ครั้ง

Engine by shopup.com