ผู้สื่อข่าว Thai Medical Hub News รายงานว่า นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และผู้บริหารกรมสุขภาพจิต เปิดงานเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2560 ( World Suicide Prevention Day )
ภายใต้แนวคิด“Take a minute, change a life : เพียงนาที ชีวิตเปลี่ยน” ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิิลด์ กทม. เผย คนไทยฆ่าตัวตายลดลง ล่าสุด อยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือยังคงฆ่าตัวตายสูง
ปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เตรียมรุกใช้มาตรการเข้มข้น จับตาเฝ้าระวังชายไทยวัยแรงงานในพื้นที่ภาคกลางและผู้สูงวัยเป็นพิเศษ แนะใช้ แอพลิเคชั่น sabaijai ประเมินผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พร้อมแนวทางการช่วยเหลือ
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายล่าสุด ของคนไทย ปี 2559 อยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ลดลงจากปี 2558 ที่มีอัตรา 6.47 ต่อประชากรแสนคน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มลดลง ยังคงเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 340 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง จะสำเร็จ 1 คน ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปี (2557-2559 ) พบประเด็นน่าสนใจที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกัน
ได้แก่ ภาคเหนือ ยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น ปี 2559 อยู่ที่ 10.54 ต่อประชากรแสนคน มีเพียงภาคใต้เท่านั้น ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายลดลง จาก 5.78 ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 ลดลงมาอยู่ที่ 5.08 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559
ส่วน ภาคกลาง เป็นภาคที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ จาก 4.97 ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 ขยับขึ้นเป็น 5.08 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่า 13 ต่อประชากรแสนคน
ได้แก่ จันทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตราด และลำปาง ซึ่ง จันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดของประเทศ อยู่ที่ 14.35 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่ กำแพงเพชร เป็นจังหวัดหน้าใหม่ ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด 10 ลำดับแรกของประเทศ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า จังหวัด ลำพูน จากที่เคยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ติดต่อกันสองปี ปรับลดลำดับเป็นอันดับที่ 7 ประเทศ ในปี 2559
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยกำหนดให้การลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ เป็นตัวชี้วัดสำคัญหนึ่งในการดำเนินงานในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตั้งเป้าหมาย ลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่เกิน 6.0 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2564 ทั้งนี้ ได้เน้นเฝ้าระวังในเขตภาคกลางมากขึ้น
เนื่องจาก พบว่า ชายวัยแรงงานมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 9.55 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 75 -79 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 9.11 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทุกคนช่วยได้ ดังคำขวัญรณรงค์ปีนี้
โดย สมาคมนานาชาติเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (International Association for Suicide Prevention :IASP) ที่ว่า “Take a minute, change a life. : เพียงนาที ชีวิตเปลี่ยน” ซึ่งทุกคนสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ ด้วยการใช้หลัก 3ส.
ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง กล่าวคือ สอดส่อง มองหา ( Look ) มองส่องตนเองและคนใกล้ชิด ค้นหาสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย เช่น เวลาพูด มีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดเปรยๆ ว่า อยากตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
เช่น ผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่เดิม ประสบปัญหาชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ใส่ใจ รับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ การรับฟัง พูดคุยเป็นเพื่อน แม้กระทั่ง การกล่าวคำว่า ขอบคุณ เพื่อให้เขากล้าที่จะบอกความรู้สึกทุกข์ทรมานใจและกล้าที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง และ ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) ภายหลังการให้ความช่วยเหลือจิตใจเบื้องต้นตามความเหมาะสมและสถานการณ์
หากไม่ดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันดูแลส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป “เวลาแต่ละคน อาจไม่เท่ากัน หากขอ เพียง 1 นาที หันกลับมาฟัง เพียง 1 นาที หันกลับมาให้กำลังใจ และเพียง 1 นาที ชีวิตจะเปลี่ยนแปลง และอาจใช้เวลานี้ โทรมาปรึกษาขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ ตลอดจน สามารถประเมินภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง พร้อมรับแนวทางการช่วยเหลือได้ที่ แอพลิเคชั่นSabaijai ดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งระบบ android และ ios ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว