กรมสุขภาพจิต แนะเคล็ดลับ เทคนิค “วิธีคิดแบบไม่เครียด” คิดหลายมุม คิดเรื่องดี
กรมสุขภาพจิต แนะเคล็ดลับ เทคนิค “วิธีคิดแบบไม่เครียด” คิดหลายมุม คิดเรื่องดี
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การใช้ชีวิตของประชาชนท่ามกลางสภาพสังคมเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ล้วนต้องเผชิญกับความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากปัญหาการเงิน การงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหาสุขภาพ ปัญหารถติด ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคล
ปัญหาจากภัยธรรมชาติ เป็นต้น ปัญหาที่กล่าวมาล้วนเป็นตัวการกระตุ้นให้คนเราเกิดความเครียดและเป็นเรื่องที่มีกันทุกคน ที่มาของความเครียดมักจะไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว แต่มักจะเกิดจาก 2 สาเหตุประกอบกันคือมีปัญหาเป็นตัวกระตุ้น และมาจากการคิดประเมินสถานการณ์ของแต่ละคน ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกว่าจะเครียดมากน้อย หนักเบา แค่ไหน ความคิดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราเกิดความเครียด หากรู้จักการคิดให้เป็น ก็จะช่วยลดความเครียดลงไปได้มาก
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า วิธีการคิดที่ไม่ทำให้เกิดความเครียดนั้น ขอแนะนำให้ประชาชนยึดเทคนิคการคิด 5 ประการ ได้แก่ 1. คิดในแง่ยืดหยุ่นให้มากขึ้น อย่าเข้มงวด จับผิด หรือตัดสินผิดถูกตัวเองและคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ให้ละวาง ผ่อนหนักผ่อนเบา ลดทิฐิมานะ รู้จักให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคือง
2.คิดอย่างมีเหตุผล อย่าด่วนเชื่ออะไรง่ายๆพยายามใช้เหตุผลตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบคอบ นอกจากจะทำให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อให้ใครหลอกได้ง่ายแล้ว การคิดแบบนี้ยังช่วยตัดความกังวลลงได้ด้วย
3. คิดหลายๆแง่มุม หลายๆด้านทั้งด้านดีและด้านไม่ดีควบคู่กัน อย่ามองเพียงด้านเดียวให้ใจเป็นทุกข์ และควรคิดถึงจิตใจและความรู้สึกของคนอื่นด้วย
จะช่วยให้เรามองอะไรได้กว้างไกลกว่าเดิม 4. ให้คิดแต่เรื่องดีๆให้มากขึ้น เช่นคิดถึงประสบการณ์ในอดีตที่เป็นสุข หรือความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา หรือความมีน้ำใจของเพื่อน จะช่วยให้เราสบายใจขึ้น หากคิดแต่เรื่องร้ายๆ เรื่องความล้มเหลว ผิดหวังหรือเรื่องที่ไม่เป็นสุข จะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้น และ 5 ให้คิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าหมกมุ่นอยู่กับตัวเองให้สนใจปัญหาของผู้คนในสังคมบ้าง
“ บางทีอาจพบว่าปัญหาที่เรากำลังเครียดอยู่มีขนาดเล็กน้อยกว่าคนอื่น จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น และหากได้มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย จะเป็นผลดีทำให้มีความสุขใจเกิดขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อเราสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ความเครียดก็จะหมดไป ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
สำหรับ วิธีที่จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีและรวดเร็ว ขอแนะนำให้ประชาชนละเว้นการแก้ปัญหาต่างๆ 5 แบบที่ผิดวิธี ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลดีแล้ว อาจทำให้เรื่องบานปลายได้ ดังนี้ 1.อย่าแก้ปัญหาแบบวู่วาม ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เมื่อเจอปัญหา ให้พยายามสงบสติอารมณ์ สูดหายใจเข้าช้าๆลึกๆสัก 4-5 ครั้งหรือนับ 1-10 ก่อนจะตอบโต้อะไรออกไป 2.อย่าหนีปัญหา ขอให้กล้าเผชิญปัญหาและอย่าผัดวันประกันพรุ่ง ให้รีบแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้ปัญหาค้างคา เพราะเท่ากับเป็นการสะสมความเครียดมากขึ้น
3. อย่าคิดแต่จะพึ่งพาแต่คนอื่นตลอดไป ให้ถือคติตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ให้ใช้ความสามารถตัวเอง คิดแก้ปัญหาหลายๆวิธี ความสำเร็จจะสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง หากคิดไม่ออกหรือยังไม่ได้ผล อาจปรึกษาผู้ใกล้ชิด หรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า
4. อย่าเอาแต่ลงโทษตัวเอง การโทษตัวเองเป็นการอมความทุกข์ใจไว้ ควรให้ให้โอกาสตัวเองที่จะแก้ไขข้อผิดพลาด เพื่อไม่ทำผิดเรื่องเดิมซ้ำอีก และ 5. อย่าโยนความผิดให้คนอื่น เพราะจะก่อให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น
09 สิงหาคม 2563
ผู้ชม 4351 ครั้ง