ผลวิจัยชี้ชัด ! เลี้ยงลูกด้วยวิธี “กิน กอด เล่น เล่า” เอื้อให้ไออิว อีคิวเด็กไทย พุ่งกระฉูด เมดฮับ นิวส์ ( MedHubNews.com )

บทความ

ผลวิจัยชี้ชัด ! เลี้ยงลูกด้วยวิธี “กิน กอด เล่น เล่า” เอื้อให้ไออิว อีคิวเด็กไทย พุ่งกระฉูด

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์สมัย ทองศิริถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

และศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามผลการดำเนินงานดูแลสุขภาพจิตประชาชนในเขตสุขภาพที่ 9 ในปีงบประมาณ 2560 

ประกอบด้วย 4 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์รวม 88 อำเภอ 9,369 หมู่บ้าน  ประชากร 6.7 ล้านคน โดยมีแพทย์หญิงสุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และ นางนาตยา  ทฤษฎิคุณ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 บรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

ในภาพรวมผลการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ในเขตสุขภาพที่ 9 พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ  ในด้านของการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต  โดยศูนย์สุขภาพจิตซึ่งเป็นศูนย์วิชาการของกรม ทำงานด้านการส่งเสริมป้องกัน เฝ้าระวังปัญหาและสนับสนุนวิชาการเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิตแก่ชุมชน

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า โดยใช้การศึกษาวิจัยหาสาเหตุปัญหาและความเสี่ยงเพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริงได้ตรงจุดทุกกลุ่มวัยรวมทั้งการดูแลผู้พิการ

 “ที่น่าสนใจ มีผลการศึกษาวิจัยผลของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกผ่านกิจกรรม กิน กอด เล่น เล่านิทานทั้งนิทานทั่วไปและนิทานท้องถิ่น ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ในปี 2559  พบว่ากิจกรรมนี้ ให้ผลต่อการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างผู้ปกครองผู้เลี้ยงดูกับเด็กอย่างชัดเจน

ซึ่งความผูกพันทางอารมณ์นี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าจะส่งผลต่อการเพิ่มระดับความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิว และความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวของเด็ก

 

โดยกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มคะแนนความผูกพันทางอารมณ์ได้สูงถึงร้อยละ 84  สูงกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูแบบทั่วๆไป ซึ่งมีคะแนนเพียงร้อยละ 17  เท่านั้น  จะเร่งขยายผลการใช้กิจกรรมนี้ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่   ซึ่งกรมฯตั้งเป้าภายในปี 2564  จะเพิ่มไอคิวเฉลี่ยสูงกว่า 100 จุด   มั่นใจว่าจะดำเนินการได้ และเด็กไทยจะมีไอคิวไม่แพ้เด็กในระดับสากลได้แน่นอน

ผลการประเมินล่าสุด ในปี 2559 ของเด็กวัยเรียนในพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9  มีระดับไอคิวเฉลี่ย 96.58 จุด  และมีอีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติร้อยละ 80  ซึ่งใกล้เคียงกับระดับประเทศ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

สำหรับในด้านการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช ในเขตสุขภาพที่ 9  มีโรงพยาบาลชุมชน เครือข่ายของรพ.จิตเวชนครราชสีมา ฯ จำนวน 89 แห่ง สามารถให้การรักษาโรคจิตเวชต่างๆ  ได้ ทำให้การเข้าถึงบริการดีขึ้น  เช่นโรคจิตเวชทุกโรค เข้าถึงบริการร้อยละ75  โรคซึมเศร้าเข้าถึงร้อยละ 55.5    เด็กสมาธิสั้น เข้าถึงบริการร้อยละ 9

เป้าที่ตั้งไว้คือร้อยละ 8   อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นคือการดูแลผู้ป่วยในชุมชน  เพื่อลดอาการกำเริบ และอยู่ในชุมชนได้นานกว่า 180 วัน และไม่ก่อความรุนแรงสังคม  ประเด็นที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบบ่อยที่สุดคือการดื่มสุราและใช้สารเสพติด จะต้องอาศัยความเข้มแข็งความร่วมมือของครอบครัว และชุมชน   ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์  ซึ่งมีผลงานในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชเฉพาะทางที่รุนแรงยุ่งยากซับซ้อนทุกโรคในระดับดี 

สามารถดูแลป้องกันอาการกำเริบ กลับเข้ามารักษาซ้ำภายใน 180 วัน ได้สูงถึงร้อยละ 97   เนื่องจากมีประสบการณ์มากว่า 50 ปี  มีระบบการดูแลเชื่อมโยงถึงชุมชน และขณะนี้มีการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชที่วัดห้วยพรหม อ.วังน้ำเขียว อ.โนนสูง  ต.หนองขาม อ.พิมาย และต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว

โดยให้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯเพิ่มความเป็นเลิศในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน  เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในระดับประเทศต่อไป 


 

06 พฤษภาคม 2561

ผู้ชม 4034 ครั้ง

Engine by shopup.com