อาการ “ใจหาย” ทาง "สุขภาพจิต" เรียกว่าประสบการณ์ "เจ็บปวดซ้ำ" แนะสายด่วนสุขภาพจิต
อาการ “ใจหาย” ทาง "สุขภาพจิต" เรียกว่าประสบการณ์ "เจ็บปวดซ้ำ" แนะสายด่วนสุขภาพจิต
ทีมข่าว เว็บไซต์ medhubnews.com รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอาการใจหายของประชาชนว่า
อาการดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้นตามปกติในผู้ที่มีความสูญเสียมีความเศร้า หรือเกิดจากสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่เป็นความผูกพันยึดเหนี่ยวจิตใจขาดหายไป ซึ่งในบางคนมีประสบการณ์การสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในทางสุขภาพจิตเรียกว่าประสบการณ์ที่เจ็บปวดซ้ำ ( Re traumatic experience) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วและปรับตัวปรับใจได้แล้วมาเกิดขึ้นซ้ำอีก อาการใจหายนี้เป็นเพียงกลุ่มอาการที่ยังไม่ถือว่าป่วยเป็นโรคทางจิตใจ ผู้ที่มีอาการ จะหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง
บางคนอาจมีความรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ วูบวาบในใจ ตกใจ หรือแน่นที่หน้าอก จุกที่อกหรือจุกที่คอเหมือนมีอะไรมากดทับ อาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามพื้นฐานสภาพจิตใจของแต่ละคน และจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 5- 7 วัน
อาการใจหาย สามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกคน กลุ่มคนที่อาจเกิดผลกระทบทางจิตใจได้มากกว่าคนทั่วไปคือกลุ่มที่จิตใจเปราะบางอยู่เดิมได้แก่1. ผู้ที่มีความเครียดเป็นทุนเดิมมาก่อนอยู่แล้ว ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจหรือสูญเสียคนรักในครอบครัว
2.ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่เดิมซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ1.5 ล้านคน และ 3.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกายประจำตัวเช่นโรคหัวใจ
โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น หากเป็นมากจนถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มีความทุกข์ทรมานในช่วงที่ยังไม่ถึงเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เช่นเครียดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ปวดเมื่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ประการสำคัญขอให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรคกินยาให้ต่อเนื่องครบจำนวนตามที่แพทย์สั่ง
อย่าขาดยา เพราะยาจะช่วยควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป
หากมีอาการวูบวาบ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เป็นมากถึงขั้นนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หายใจไม่ทั่วท้องเกิดขึ้นนานเกิน 7 วัน จนทำงานทำการไม่ได้ ถือว่ามีความผิดปกติ ควรได้รับการช่วยเหลือทางจิตใจ
ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือปรึกษาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโทรปรึกษานักจิตวิทยาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด24 ชั่วโมง "อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทั้งนี้ ก่อนจะถึงช่วงเวลาแห่งการถวายพระเพลิงฯ ขอแนะนำประชาชนให้ตั้งสติ เตรียมความพร้อมทั้งกายใจดังนี้ 1. ตั้งใจ ตั้งสติ หมั่นทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณกุศล เช่น การเป็นจิตอาสาช่วยในด้านต่างๆ การทำดอกไม้จันทน์ การร่วมทำบุญบริจาคหรือกิจกรรมอื่นๆตามแต่กำลังของตน
2. ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน แล้ว นำเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการยึดแนวปฏิบัติตามหลักเศรฐษกิจพอเพียง จะทำให้เกิดความสุขใจที่ยั่งยืน
3.ติดตามข่าวสารจากทางราชการเป็นระยะๆ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และความภาคภูมิใจแต่ตนเองและครอบครัว
4. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้พัก 5.หมั่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่คลายเครียดต่างๆ และ6.ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมกับครอบครัวให้เป็นประโยชน์ ไม่อยู่คนเดียว
“หากเรามีความทุกข์ใจ มีอุปสรรคต่างๆในชีวิตหรือการดำเนินชีวิต ก็ขอให้มองไปที่รูปของพระองค์ เสมือนพระองค์ท่านยังคอยเป็นกำลังใจให้พวกเราประชาชนชาวไทยได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ให้พร้อมต่อสู้สำหรับการดำเนินชีวิตต่อไป” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป โรงพยาบาลฯจะดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดอาการใจหายของประชาชน 3 ประการ ประการแรกคือ ให้
ผู้ป่วยยาเสพติดหลังผ่านการบำบัดฟื้นฟู เขียนปฎิญาณตนแสดงการทำความดีที่จะลดละสิ่งเสพติด แขวนใต้ต้นโพธิ์จำลอง เพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความแน่วแน่ หักห้ามความคิด ที่จะหวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก
ประการที่ 2 จะให้ผู้รับบริการที่เป็นทั้งคนไทยและจากสปป.ลาว ทั้งผู้ป่วยและญาติ ที่ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีวันประมาณ 200 คน ได้ฝึกการใช้สติ ฝึกหายใจคลายเครียด นานประมาณ 15-20 นาที ช่วงเวลา 8.30-9.00 น. ในช่วงเช้าก่อนพบแพทย์ตรวจ เพื่อช่วยบรรเทาแก่ผู้ที่มารับบริการที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรือเครียดเรื้อรังสะสม ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ด้วย
และประการที่ 3 ในกลุ่มผู้ป่วยในหอผู้ป่วยต่างๆทั้งหญิงและชายที่มีวันละประมาณ 70 คน จะเน้นให้บริหารร่างกาย ออกกำลังกายเบาๆ ฝึกการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นทำดอกไม้จันทน์
และทำพรมเช็ดเท้า ทำน้ำยาล้างจานจากสมุนไพรเพื่อใช้หรือจำหน่ายราคาถูก ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกร
06 มกราคม 2562
ผู้ชม 16735 ครั้ง