"ผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์" เพิ่ม 1 คน จิตแพทย์คิดค้นวิธีการฟื้นฟูรักษาอาการสมองเสื่อม เมดฮับ นิวส์ ( MedHubNews.com ) เว็บไซต์สุขภาพ การแพทย์ และ ระบบสาธารณสุขแห่งแรก

บทความ

ทุกๆ 7 วินาที มี "ผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์" เพิ่ม 1 คน จิตแพทย์คิดค้นวิธีการฟื้นฟูรักษาอาการสมองเสื่อม

 

ทีมข่าว เว็บไซต์  Medhubnews.com  รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  เปิดนิทรรศการ รณรงค์เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก ( Alzheimer action day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนทุกปี  ที่โรงพยาบาล(รพ.)สวนสราญรมย์ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 

เพื่อให้ความรู้ประชาชน สร้างความตระหนักถึงภัย และวิธีการป้องกันโรคอัลไชเมอร์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่พบมากอันดับ1

สมาคมโรคอัลไซเมอร์สากล ระบุว่าในทุกๆ 7 วินาที ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 1 คน หมายความว่า จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลกถึงปีละ 4.6  ล้านคน 

ขณะนี้มีผู้ป่วยทั่วโลกแล้วเกือบ 30 ล้านคน คาดว่าภายในปี 2593 ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 4 เท่าตัว หรือประมาณ 100 ล้านคน  สำหรับไทยพบผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ประมาณ  500,000  คน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้รพ.สวนสราญรมย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยี เร่งศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการการรักษาฟื้นฟูและการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ 

โดยประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้ใกล้เคียงกับวิถึชีวิตผู้สูงอายุไทยมากที่สุด  เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพชีวิตดี  อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า  

ทั้งนี้ที่รพ.สวนสราญรมย์ พบผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช ที่เสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อม  หรือเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ เข้ารักษาในโรงพยาบาลปีประมาณ 200 คน  โดยรพ.ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูความจำทุกวัน เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อม  มีทั้งหมด 12 กิจกรรม  ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือมีการฝึกความจำด้วยคำพังเพย

โดยนำเอาคำสุภาษิต คำพังเพย สอนลูกสอนหลานที่เป็นที่คุ้นเคย 5 คำพังเพย ได้แก่ เข็นครกขึ้นภูเขา  มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ขิงก็ราข่าก็แรง  จับปลา 2 มือ และน้ำขึ้นให้รีบตักมาใช้ให้ผู้ป่วยสูงอายุทายความหมายจากภาพที่ใช้สีสันสวยงาม เพื่อเพิ่มพูนความจำ  กำหนดเวลาให้ทายภาพคนละ 5-10 นาที ทำมาแล้วประมาณ 2 ปี 

เบื้องต้นพบว่าได้ผลดี  หลังจากทำกลุ่มรวม 12 ครั้ง พบว่าผู้ป่วยสนุกสนาน ร่าเริง มีสัมพันธภาพกับคนอื่นดีขึ้น จำชื่อเพื่อนได้ดีขึ้น เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มดีขึ้น  จำวันเวลาสถานที่ได้ดีขึ้น  การคิดนึกของผู้ป่วยเร็วขึ้น  ซึ่งจะให้รพ.ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นโปรแกรมฟื้นฟูความจำ ชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม สำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชและไม่ป่วยอย่างจริงจังในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป เพื่อรับมือการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศ

อย่างไรก็ตาม โรคสมองเสื่อม สามารถชะลอการเกิดโรคได้ หากมีวิธีการป้องกันหรือกระตุ้นความจำได้อย่างถูกวิธี ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ส่งเสริมให้สถานดูแลผู้สูงอายุเช่นเนิร์สเซอรื๋  สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ  ตรวจคัดกรองโรคสมองเสื่อม ด้วยแบบคัดกรองดีเอสที ( Dementia Sreening Test :DST) ที่กรมสุขภาพจิตพัฒนาขึ้น 

มีคำถามเพียง 4 ข้อ  ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 4 นาทีก็รู้ผล  หากพบว่ามีคะแนนต่ำแสดงว่าเข้าข่ายสงสัย  ต้องส่งพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

ด้านนายแพทย์จุมภฎ  พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า  โรคสมองเสื่อมมักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป  ขอให้ลูกหลานสังเกตุอาการของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไปจากเคยทำปกติทุกวัน   โดยให้สังเกตุ  6 อาการที่มักพบในคนไทย ได้แก่ 1. ความจำระยะสั้นไม่ดี  เช่นลืมวันนัด ถามซ้ำแล้วไม่รู้เรื่อง  2. การใช้ภาษาบกพร่อง เช่นเรียกชื่อลูกหลานไม่ได้  เรียกชื่อสิ่งของที่เคยใช้เป็นประจำไม่ได้ 3. สับสนทิศทาง ไปเส้นทางเดิมไม่ได้

4. ทำงานที่มีความซับซ้อนไม่ได้ 5.อารมณ์แปรปรวน  เช่นซึม เศร้าอย่างไม่มีสาเหตุ  6.  บุคลิกเปลี่ยนไป เช่นอยู่ๆก็หัวเราะเสียงดัง โดยไม่มีเรื่องมากระตุ้น หากพบว่ามีอาการที่กล่าวมาแม้เพียงข้อเดียว ให้พาไปปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้านได้  

02 ธันวาคม 2565

ผู้ชม 3362 ครั้ง

Engine by shopup.com