"จิตแพทย์" ออกโรงให้ความรู้พ่อแม่ ! เด็กพัฒนาการล่าช้า เป็นสัญญานเตือนภัย ให้รีบตรวจเช็คคุณภาพ “สมอง”
"จิตแพทย์" ออกโรงให้ความรู้พ่อแม่ ! เด็กพัฒนาการล่าช้า เป็นสัญญานเตือนภัย ให้รีบตรวจเช็คคุณภาพ “สมอง”
ทีมข่าวเว็บไซต์ Medhubnews.com รายงานว่า วันนี้ ( 24 ก.ย.) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการตั้งเป้าพัฒนาเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งมีประมาณ 4 ล้านคนทั่วประเทศ
โดยหวังว่าให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ สมองสมบูรณ์แบบ เป็นเด็กไทยที่มีคุณสมบัติ มีต้นทุนสูงใน 3 ด้านคือ มีปัญญาดี อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมยุค 4.0 อย่างมีคุณค่า นำพาประเทศไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ในทุกด้าน
ทางกรมฯ เน้นที่การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพทำงานของสมองโดยตรง หากเด็กไทยมีพัฒนาการดีสมวัย แสดงว่าสมองของเด็กมีคุณภาพ จะทำให้ค่าเฉลี่ยไอคิวของเด็กไทยขยับสูงขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ 98.23 จุด ไปสู่ค่าเฉลี่ยที่ 105 จุดหรือมากกว่านี้อย่างแน่นอน
มาตรการในการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เน้นหนัก 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ การตรวจคัดกรองเด็ก 4กลุ่มวัย คืออายุ 9 เดือน ,18 เดือน ,30 เดือน และ 42 เดือน เพื่อค้นหาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าไม่เป็นไปตามวัย และส่งเสริมแก้ไขอย่างทันท่วงที ซึ่งมีความร่วมมือบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกรมอนามัยที่ดูแลด้านวิตามิน สารอาหาร การเจริญเติบโตทางร่างกาย
กรมควบคุมโรคดูแลด้านการให้วัคซีนพื้นฐานป้องกันโรค และอีก 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่มหาดไทย การพัฒนาสังคมฯและศึกษาธิการ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำเป็นโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน พ.ศ.2558 ระหว่างพ.ศ. 2558 -2561มีอสม.ที่มีกว่า 1 ล้านคน ร่วมตรวจคัดกรองด้วย
เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนาขยายเครือข่ายสถานพยาบาลในการตรวจพัฒนาการเด็ก และบริการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการของเด็กที่อยู่ในข่ายสงสัยล่าช้าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ป้องกันเด็กมีไอคิวอีคิวต่ำ โดยอบรมพัฒนาบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งเทคโนโลยีคือคู่มือส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็กใช้สำหรับบุคลากรและคู่มือการเลี้ยงดูเพื่อกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้พ่อแม่ไปใช้ที่บ้านด้วยจะได้รับทุกคนหลังคลอด
ขณะนี้มีโรงพยาบาลสามารถให้บริการดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า 644 แห่ง คิดเป็นร้อยละ76 ของโรงพยาบาลที่มีทั้งหมด 848 แห่ง ตั้งเป้าจะให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปีงบประมาณ 2561และเรื่องที่ 3 คือการให้ความรู้ประชาชน
“ปัญหาหลักที่พบขณะนี้มีพ่อแม่ประมาณ 1 ใน 3 ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ใส่ใจเรื่องพัฒนาการของลูกไม่มากเท่าที่ควร คิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะเห็นว่าลูกไม่ได้ผิดปกติอะไร และมีความเชื่อว่าพัฒนาการของเด็กจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นอันตรายต่ออนาคตของเด็กทั้งชีวิต”
ขณะที่ นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า พัฒนาการเด็กมี 5 ด้านได้แก่ 1. การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการยืน เดิน วิ่ง 2.การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการหยิบจับรวมถึงสติปัญญา 3. การพูดสื่อสาร 4.ความเข้าใจการตอบสนองการได้ยิน การเห็น และ5.การช่วยเหลือตนเองและสังคมโดยรวม
หากมีด้านใดด้านหนึ่งไม่เป็นไปตามวัย ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กอาจมีพัฒนาการสงสัยล่าช้า เช่น อายุ 9 เดือนแล้ว ยังลุกนั่งเองไม่ได้เหมือนเด็กวัยเท่ากัน หากเด็กได้รับการกระตุ้นส่งเสริมที่ถูกวิธีอย่างทันท่วงที
ส่วนใหญ่ร้อยละ 98 จะได้ผลพัฒนาการกลับมาสมวัย แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นส่งเสริมจะทำให้สมองขาดการพัฒนา ระดับความฉลาดทั้งไอคิวและอีคิวจะด้อยลงเรื่อยๆ เรียกว่าโตแต่ตัวแต่สมองไม่ฉลาด หากกระตุ้นแล้วยังล่าช้าอีกอาจมีความผิดปกติอย่างอื่น ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 3 จะต้องส่งตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
จึงขอให้ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจ หากสงสัยให้โทรปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือสอบถามอสม./เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน โดยเด็ก 1 คน ควรได้รับการตรวจพัฒนาการ 4 ครั้ง คือเมื่ออายุ 9 เดือน ,18 เดือน ,30 เดือน และ 42 เดือน
ทั้งนี้ผลการดำเนินการล่าสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-เดือนมิถุนายน 2560 ตรวจพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบครึ่งไปแล้ว 1,181,239 คน พบว่ามีพัฒนาการอยู่ในข่ายสงสัยล่าช้าร้อยละ 15 หรือ 172,790 คน ในจำนวนนี้ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นและพัฒนาการกลับเป็นปกติร้อยละ 97 ที่เหลืออีกร้อยละ 3 พัฒนาการยังล่าช้า และส่งตัวเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ
24 กันยายน 2560
ผู้ชม 997 ครั้ง