"เทคนิคการแพทย์" รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว พัฒนา App.ประเมินความเสี่ยงไตเสื่อม ผ่านมือถือ เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข นักเทคนิคการแพทย์ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์นวัตกรรม

บทความ

ผลงาน "นักเทคนิคการแพทย์" รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว คิดค้นนวัตกรรมประเมินความเสี่ยงไตเสื่อม

MED HUB NEWS - ย้อนกลับไป เมื่อปีที่ผ่านมา จากความสำเร็จ งานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2560  ณ  โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี  มีเรื่องราวให้ต้องถ่ายทอดมากมาย

ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์เมดฮับ นิวส์ดอทคอม และ เพจ sasook  รายงานว่า  ผลงานทางวิชาการในครั้งนี้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยช่วยพยากรณ์ภาวะไตเสื่อม ณ เวลาปัจจุบัน

จนถึง 5 ปีข้างหน้าได้ใช้ได้กับประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ง่ายต่อการประเมินความเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคไตเสื่อมเรื้อรัง

ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่นประเภท นวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ : สาขาเภสัชกรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค, วิทยาศาสตร์การแพทย์  จากการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 15-20% ต่อปี หากไม่มีการแก้ไขคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าต้องใช้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปีในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดนโยบายการจัดการโรคไตเรื้อรัง

โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรคไตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดระบบบริการเพื่อเพิ่มการคัดกรองโรคไต การชะลอไตเสื่อม

การพัฒนาระบบการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้อง การเพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายไตและส่งเสริมให้เกิดคลินิกชะลอไตเสื่อมขึ้นใน รพ.ทั่วประเทศ

ทนพ.วสุอนันต์ ทองดี นักเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) ปัว จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า เพื่อสนองนโยบายการจัดการโรคไตเรื้อรังของกระทรวงสาธารณสุข และช่วยให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตเสื่อมเรื้อรังได้ง่ายขึ้น 

“ผมจึงร่วมกับ นายบรรจง กิตติสว่างวงศ์ นักคอมพิวเตอร์ รพร.ปัว พัฒนาแอพพลิเคชั่น ( Application ) Thai CKD risk calculation ซึ่งใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนขึ้น

เพื่อใช้ประเมินอัตราการลดลงของไตเพื่อพยากรณ์การเกิดโรคไตเสื่อมเรื้อรัง ( Chronic Kidney Disease; CKD ) ขึ้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา”  

โดยทำภายใต้แนวคิดที่ว่า หากประชาชนรู้สถานะสุขภาพไตของตนเองแล้ว จะได้ปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยง หรือชะลอการเสื่อมของไตลงได้ โดยผลงานนี้ได้นำออกแสดง ในงานประชุมวิชาการชมรมเทคนิคการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่จังหวัดเชียงราย

และ งานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อเร็วๆ นี้ และได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่นประเภท นวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ : สาขาเภสัชกรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค, วิทยาศาสตร์การแพทย์  จากการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขด้วย

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวได้รับรางวัลชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่นระดับสูง (ALS)ระดับจังหวัด 2556 

ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะแสดงผลการประเมินความเสี่ยงจากค่าเฉลี่ยอัตราการลดลงของการกรองผ่านไต ( estimated glumerular filtration rate; eGFR )

จากการตรวจเลือด Serum creatinine และจากการตรวจปัสสาวะ Urine microalbumin ตามเพศ และกลุ่มช่วงอายุที่เปลี่ยน ตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึงอายุ 89 ปี

ในระยะเวลาปัจจุบัน จนถึง 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในกรณีที่มีแต่ผลตรวจเลือดหรือผลตรวจปัสสาวะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

ซึ่งปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการตรวจเลือดจากคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศได้ง่ายขึ้น หรือจะใช้ผลตรวจจากการตรวจที่โรงพยาบาลมาประเมินก็ได้เช่นกัน

ทนพ.วสุอนันต์ เปิดเผยว่า แบบประเมินนี้สร้างขึ้นจากการติดตามย้อนหลัง ศึกษาหาอัตราเฉลี่ยการลดลงของค่า eGFRจากการตรวจสุขภาพประจำปีในกลุ่มผู้มีสุขภาพดี และกลุ่มที่ป่วยของประชากรไทย เขตอำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นระยะเวลา 4 ปี

ในงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาการลดลงของอัตราการกรองผ่านไต เพื่อการพยากรณ์โรคไตเสื่อมเรื้อรังในกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพดี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว”

ภายใต้หลักสูตรอบรมเทคนิคการแพทย์เฉพาะทางสาขาการพัฒนาการบริการปฐมภูมิต่อเนื่องทุติยภูมิโดยชีวการแพทย์สารสนเทศสำหรับนักเทคนิคการแพทย์ (เทคนิคการแพทย์) รุ่นที่ 1 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

โดยแบบประเมินความเสี่ยงนี้ใช้เฉพาะในคนไทยที่มีอายุ 18-89 ปี ทั้งที่มีสุขภาพดี เสี่ยง และป่วยได้ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจแนะนำให้เข้ารับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือควรปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวใกล้บ้านอีกครั้ง

“งานวิจัยนี้ใช้สถิติ linear least  squares regression analysis and percentile ได้ค่าอัตราการลดลง สามารถเป็น reference

เมื่อเทียบกับประชาชนไทยและญี่ปุ่น  ผมใช้ westgard rule  มาควบคุมคุณภาพในแต่ละช่วงอายุตาม data ที่ทำวิจัย” ทนพ.วสุอนันต์ กล่าว

สำหรับ แอพพลิเคชั่นนี้ใช้ได้กับประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ไม่มีนักเทคนิคการแพทย์แปลผลแล็บ

การใช้แอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้ง่ายต่อการประเมินความเสี่ยงในการตรวจเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคไตเสื่อมเรื้อรังในกลุ่มปกติตั้งแต่อายุ18 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ทราบสถานะสุขภาพไตของตัวเอง

รวมถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ป่วย เพื่อจะได้ให้คำแนะนำในการเฝ้าระวัง ปรับพฤติกรรมสุขภาพ หรือติดตามการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งจะช่วยพยากรณ์ภาวะไตเสื่อม ณ เวลาปัจจุบัน จนถึง 5 ปีข้างหน้าได้

“แอพพลิเคชั่นนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้งาน เนื่องจากใช้งานได้เฉพาะระบบ Android เท่านั้น  ยังไม่รองรับระบบ iOS ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อยอดให้ครอบคลุมทุกระบบต่อไป แต่ยังขาดทุนในการพัฒนา ซึ่งถ้ามีผู้ให้การสนับสนุนก็จะพัฒนาต่อได้” ทนพ.วสุอนันต์กล่าวในที่สุด

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News  

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com  ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

02 มกราคม 2562

ผู้ชม 6409 ครั้ง

Engine by shopup.com