"กรมวิทย์" สุ่มเก็บหอย ส่งห้องแล็บตรวจ พบโลหะหนัก ใน "หอยสองฝา"
"กรมวิทย์" สุ่มเก็บหอย ส่งห้องแล็บตรวจ พบโลหะหนัก ใน "หอยสองฝา"
ทีมข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าได้ร่วมกับ สำนักงานประมงอำเภอในท้องที่และเกษตรกรในพื้นที่เพาะเลี้ยงหอยสองฝา
บริเวณปากแม่น้ำสำคัญ ของประเทศไทย 5 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม แม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนโลหะหนักและเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ โดยในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง หอยสองฝา ได้แก่ หอยแครง หอยแมลงภู่ และหอยนางรม และทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาการปนเปื้อนโลหะหนัก 4 ชนิด
ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท สารหนู และแคดเมียม และเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ 3 ชนิด ได้แก่ เชื้อวิบริโอ คอเลอเร (Vibrio cholerae) หรือเชื้ออหิวาต์, เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) หรือเชื้ออหิวาต์เทียม, และวิบริโอ วัลนิฟิคัส (Vibrio vulnificus)
ผลการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนโลหะหนัก 4 ชนิด ตรวจพบเกินเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นสารแคดเมียม โดยตามมาตรฐานสหภาพยุโรป กำหนดให้แคดเมียมไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ส่วนตะกั่ว ปรอท และสารหนูอนินทรีย์ ตรวจพบไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง ขณะที่ผลการตรวจเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ พบการปนเปื้อนเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส และพบเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ปนเปื้อนในตัวอย่างหอยบ้าง แต่ไม่พบ เชื้อวิบริโอ คอเลอเร ซีโรไทป์ O1 และ O139 ซึ่งเป็นเชื้อต้นเหตุที่สำคัญของอหิวาตกโรค
อาหารทะเลของประเทศไทย โดยเฉพาะหอยสองฝามีการปนเปื้อนโลหะหนักบ้าง แม้จะเล็กน้อย เพราะสัตว์ที่หากินตามโคลนตม ผิวหน้าดินในทะเล ส่วนการตรวจพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่สำคัญ
คือ เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส และเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังก่อโรครุนแรง ถึงแก่ชีวิตได้ ในบุคคลที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือผู้ป่วยโรคตับ เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ พบได้ทั่วไปในน้ำทะเลตามธรรมชาติ
“ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหอยดิบหรือหอยที่ปรุงไม่สุกดี ควรแยกอาหารสุกและดิบออกจากกัน ไม่วางปะปน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามของเชื้อวิบริโอจากอาหารดิบ ไปยังอาหารที่ปรุงสุกแล้ว
รวมทั้งควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ใส่อาหารทะเลดิบให้สะอาดก่อนนำไปใส่อาหารชนิดอื่น และกรณีที่มีแผลให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำทะเลหรือน้ำกร่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับหรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ” นายแพทย์สุขุม กล่าว
17 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 1777 ครั้ง