"แอพพลิเคชั่นมายด์ฟิต" ช่วย"วัยรุ่นไทยป่วยโรคซึมเศร้า" เข้าใจผิดคิดว่าแค่เซ็ง
"แอพพลิเคชั่นมายด์ฟิต" ช่วย"วัยรุ่นไทยป่วยโรคซึมเศร้า" เข้าใจผิดคิดว่าแค่เซ็ง
MED HUB NEWS - ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต
ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์สุขภาพที่ 10 และโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อให้กำลังใจและติดตามผลการดำเนินงานรวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการประชาชนในพื้นที่
โดยระบุว่า โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคแล้ว ยังมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านโรคซึมเศร้าในระดับประเทศ สถานการณ์โรคซึมเศร้า ขณะนี้นับเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่น่าเป็นห่วงมาก มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคนี้ร้อยละ 2.7 หรือมีประมาณ 1.5 ล้านคน
ที่น่าห่วงที่สุดคือ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ ผลการเฝ้าระวังล่าสุดในปี 2560 นี้ มีอัตราป่วยโรคซึมเศร้าร้อยละ 1.24 หรือประมาณ 113,343 คน เข้าถึงบริการ 45,158 คน หรือร้อยละ 40
เนื่องจากไม่รู้ว่าตัวเองป่วย คิดว่า อาการเซ็ง เบื่อโลก เป็นอาการเครียดทั่วไป และไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์ กลัวถูกล้อว่าบ้า ทำให้ทนทุกข์อยู่คนเดียว และสรรหาการเล่นสื่อออนไลน์เป็นทางออกคลายเครียดตัว
มีผลกระทบต่อการเรียน การใช้ชีวิต บางรายหันไปพึ่งสารเสพติด ทำให้อาการซึมเศร้าเป็นรุนแรงมากขึ้น และสุดท้ายจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท
ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ กรมสุขภาพจิต ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นต้านเศร้าวัยรุ่น มีชื่อว่า มายด์ฟิต ( MindFit application ) เป็นโปรแกรมส่งเสริมป้องกันโรคซึมเศร้าเชิงรุกทางออนไลน์รูปแบบใหม่ผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
เพื่อให้วัยรุ่นสามารถใช้แอพฯนี้ ตรวจสอบพลังใจ วัดความเศร้าของตัวเองด้วยคำถามด้วยภาษาวัยรุ่นง่ายๆ เพียง 9 คำถาม จากนั้นจะมีกิจกรรมคลายความเศร้าให้ทำ
โดยเน้นที่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม และการคิดบวก จะสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ
เป็นเกราะป้องกันโรคได้อย่างดี จะทำให้วัยรุ่นมีอาการดีขึ้น และหายซึมเศร้าในที่สุด จะลดความสูญเสียงบประมาณเหลือเพียง 109 ล้านบาท โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขณะที่ นายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมายด์ฟิตนี้ รพ.ฯ ได้ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญโรคซึมเศร้า ทั้งอาจารย์จิตแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับความคิดและพฤติกรรม พยาบาลจิตเวช
แกนนำวัยรุ่น 4 ภาคและนักสร้างแอพพลิเคชั่น ออกแบบให้ใช้งานง่าย โดนใจ และเข้ากับวิถีชีวิตของวัยรุ่นมากที่สุด
แอพฯ นี้ใช้ได้ตลอด 24 ชม. อยู่ที่ไหนก็ทำได้ โดยใช้โทนแอพฯเป็นสีส้ม ที่สื่อถึงความความสนุกสนาน ร่าเริง แจ่มใส มีคำว่ามายด์ ( Mind) หมายถึง จิตใจคำว่าฟิต ( Fit ) หมายถึง พอดี เหมาะสม แข็งแรง โดยรวมแล้วแอพฯ มายด์ฟิตนี้ จึงหมายถึง สิ่งที่จะช่วยให้จิตใจแข็งแรง
แอพฯมายด์ฟิตนี้ ใช้ได้กับวัยรุ่นทุกคน แต่จะใช้ได้ดีในวัยรุ่นที่เสี่ยงเกิดอาการซึมเศร้าง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆได้แก่ กลุ่มที่ครอบครัวประสบปัญหา เช่น ทะเลาะเบาะแว้ง ถูกคาดหวังจากครอบครัว วัยรุ่นอกหัก ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ถูกแกล้ง ถูกรังแก มีผลการเรียนตกต่ำ
รวมทั้งวัยรุ่นที่ใช้สารเสพติด เป็นต้น ภายในมายด์ฟิตประกอบด้วย การประเมินพลังใจ 9 ข้อ และมีกิจกรรมลดความเศร้าที่ให้ปฏิบัติ 6 กิจกรรมหลักรวม 18 กิจกรรมย่อย การปฏิบัติมากน้อยขึ้นอยู่กับระดับค่าคะแนนพลังใจ
ประกอบด้วย 1. การเสริมสร้างการรับรู้ ได้แก่ การรับรู้ตนเอง รับรู้กับความคิดทางลบ รับมือกับความเกลี่ยดชัง 2. การเสริมสร้างการรับมือกับปัญหา ได้แก่ กิจกรรมสร้างความสุข ปรึกษาเพื่อน ปรึกษาผู้ใหญ่
3. การเสริมสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม ได้แก่ เปลี่ยนลุค ออกกำลังกาย นอนเป็นเวลา 4. การเสริมสร้างความคิดเชิงบวก ได้แก่ การฝึกสติ เซลฟี แชร์เรื่องดีๆลงโซเชียล
5. การเสริมสร้างความเป็นตัวเอง ได้แก่ การบอกสิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ เข้าสังคมที่ใช่ 6. การเสริมสร้างการตั้งเป้าหมายในชีวิต ได้แก่ การจัดห้องนอน ลองกินอาหารแปลกใหม่ ออกเดินทาง กิจกรรมที่กล่าวมาจะต้องปฏิบัติอย่างน้อย 3 ครั้งเป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน
โดยมีการ์ตูนชื่อน้องมายด์ ซึ่งเป็นวัยรุ่นที่มีประสบการณ์ เคยป่วยโรคซึมเศร้าและรักษาหายแล้ว เป็นเพื่อนช่วยกระตุ้นให้ทำกิจกรรมจนสำเร็จ
เมื่อผู้ใช้ทำกิจกรรม 1 ครั้ง จะได้รับดาวเป็นรางวัล พอทำครบจำนวนครั้งของกิจกรรมนั้นๆจะได้หมวกแห่งความภาคภูมิใจ แล้วต่อจากนั้นทำครบทุกอย่างของกิจกรรมในมายด์ฟิตจะกลายเป็นผู้ชนะใจตัวเอง
แต่หากทำกิจกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ น้องมายด์จะแนะนำให้ปรึกษาสายด่วน 1323 หรือโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ 08 1725 8886
หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งนี้ วัยรุ่นไทยที่ใช้สมาร์ทโฟน สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นนี้ โดยเข้าไปสแกนผ่านคิวอาร์โค๊ดทางระบบไลน์ได้เลย
สแกนผ่านคิวอาร์โค๊ด ....แอพฯ คลายเศร้า ได้ตรงด้านล่างนี้เลยค่ะ !!
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com
19 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 8486 ครั้ง