ประชาชน อาจเกิดความ "เศร้าระลอกสอง" แนะ น้อมนำ “คำสอน รัชกาลที่ 9 ” มาปฏิบัติ อย่างดีที่สุด

บทความ

ประชาชน อาจเกิดความ "เศร้าระลอกสอง" แนะ น้อมนำ “คำสอน รัชกาลที่ 9 ” มาปฏิบัติ อย่างดีที่สุด

 

ทีมข่าว เว็บไซต์สุขภาพ Medhub news.com รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้ประชาชนจำนวนมากเดินทางเข้ากราบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา 2-3 เท่าตัว

หลายหลายคนไม่เคยเข้าไปกราบพระบรมศพหรือบางคนเข้าไปกราบมากกว่าหนึ่งครั้ง  ซึ่งการที่ได้เข้าไปกราบพระบรมศพในพระบรมมหาราชวังอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศ จะเกิดความตื้นตันปิติสุขเหมือนได้เข้าไปใกล้ชิดพระองค์

การรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย  วิธีการที่ดีที่สุดและให้ผลทางจิตใจสูงสุด  ขอแนะนำให้ประชาชนทำกิจกรรมดีๆเพื่อพระองค์ท่าน  ทั้งในรูปแบบของจิตอาสาหรือทำความดีเท่าที่เราจะทำได้ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้างและสังคมส่วนรวม เพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน 

ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพพระองค์ทรงทำพระราชกรณียกิจเพื่อพวกเรามาแล้ว  ดังนั้นพวกเราต้องตั้งใจที่จะทำต่อ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนถึงลูกถึงหลาน   เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงทำมานั้นหากไม่มีใครสานต่อ  สิ่งนั้นก็จะค่อยๆหายไป  

โดยหากประชาชนทุกคนช่วยกันสานต่อโดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีกว่า 4,600 โครงการ ทั้งเรื่องน้ำ ดิน สิ่งแวดล้อม การเกษตร การส่งเสริมอาชีพ การศึกษาเป็นต้น   ทุกโครงการล้วนมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อช่วยเหลือประชาชน ให้มีความกินดีอยู่ดี มีความผาสุกทั้งสิ้น

จึงเป็นโอกาสอันดี ที่ประชาชนจะยึดช่วงเวลานี้ ลงมือปฏิบัติ ก่อนที่จะถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงในวันที่ 26 ตุลาคม 2560  โดยเปลี่ยนแปลงสรรสร้างสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้สอดรับตามโครงการฯหรือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ที่เราสามารถทำได้   ก็ให้ทำคนละไม้คนละมือ  ใครมีอย่างที่ท่านทรงไว้ คือสิ่งที่ดีทีสุดที่จะรำลึกถึงพระองค์ท่าน 

เช่นอาจปลูกมะม่วงพันธุ์มหาชนก ซึ่งเป็นมะม่วงนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ซึ่งมีสารต้านมะเร็ง  ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น  สิ่งที่เราได้ลงมือทำนั้น จะเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนพระองค์และอยู่ใกล้เราตลอดเวลา   จะช่วยให้จิตใจเราสบายทุกครั้งที่เห็นและได้สัมผัสกับความงอกงาม  โดยไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอื่น   อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

“อย่างไรก็ดีในห้วงเวลานี้ เป็นเวลาที่ประชาชนอาจเกิดความโศกเศร้าได้อีก  จึงขอให้ประชาชนตั้งใจ ตั้งสติของตนเอง ดำเนินชีวิตอย่างปกติ  ทำหน้าที่ของตนเองตามกำลังความสามารถ การที่เราจะร้องไห้และเกิดความเศร้าระลึกถึงพระองค์ท่าน  สามารถกระทำได้ เพื่อเป็นการระบายออก การเสียใจเป็นเรื่องธรรมดา

แต่จากนั้นขอให้รีบตั้งสติของตนเอง ให้ระลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์เพื่อเป็นแบบอย่าง  และตั้งคำถามกับตนเองว่าวันนี้ เราทำดี ปฏิบัติดี ในหน้าที่ของเรา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอะไรแล้วบ้าง  

ซึ่งจะเป็นการเตือนตนเองเสมอให้มีสติและตั้งใจประคับประคองตนเองและผู้อื่นด้วย  แต่หากยังมีความย้ำคิดบ่อยๆเกี่ยวกับการสูญเสียพระองค์ท่าน เกิดความเศร้า ร้องไห้ทั้งวันตลอดเวลา  รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ใจ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ  ควรต้องปรึกษาคนใกล้ชิดและควรพบแพทย์ประจำหน่วยพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการช่วยเหลือทันที"  

นายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์

ด้านนายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า  เมื่อใดก็ตามที่การเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น หากเราไม่สามารถสกัดกั้นหรือบรรเทาลงได้ ขอแนะนำให้ประชาชนใช้วิธีจัดการกับจิตใจเพื่อลดผลกระทบทางใจดังนี้

1. ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งหลัก ปรับตัวปรับใจพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างดีที่สุด  2. ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด  โดยให้ลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ โดยเฉพาะการกระทำความดีต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม 3. มองในแง่บวก มองเห็นสิ่งดีๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งดีๆที่ซุกซ่อนอยู่ในการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ

4. มีสติ รู้เท่าทันตัวเอง  การมีสติ ระลึกรู้ใจที่กำลังอยู่กับความวิตกกังวล จะช่วยให้พาใจกลับคืนสู่ความปกติ 5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ8 ชั่วโมง  6. รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ 7.ออกกำลังกายอย่าสม่ำเสมอ ซึ่ง3 ประการหลังนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกวัยต้องไม่ละเลย เนื่องจากเป็นพื้นฐานของการมีพลังกายที่ดี

02 ตุลาคม 2560

ผู้ชม 2131 ครั้ง

Engine by shopup.com