ผลสำรวจชี้ ปชช.หวง “บัตรทอง” สวนทาง “ผู้ให้บริการทางการแพทย์” ที่อาจเหน็ดเหนื่อย ไม่พอใจระบบ เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์นวัตกรรม การค้าการลงทุน

บทความ

ผลสำรวจชี้ ปชช.หวง “บัตรทอง” สวนทาง “ผู้ให้บริการทางการแพทย์”

ทีมข่าว เว็บไซต์สุขภาพ MedHubNews.com รายงานว่า ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจบัตรทอง ปี 60 ปรากฏว่าเป็นไปตามคาด

ประชาชนหวงแหนสิทธิบัตรทอง รักษาฟรี แต่แนะปรับปรุงการรับรู้สิทธิประโยชน์และข้อท้วงติง เพิ่มการเข้าถึง

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะคณะผู้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 กล่าวว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนฯ ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560

ผลปรากฏว่าคะแนนความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มขึ้น ในกระบวนการสำรวจความเห็นมีความละเอียดมาก ทั้งนี้เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพความเห็นของประชาชนโดยรวมมากที่สุด ซึ่งขั้นตอนดำเนินการได้มีการจัดแบ่งพื้นที่สำรวจออกเป็น 13 เขต ตามพื้นที่บริการของ สปสช.

และได้ทำการคัดเลือก 2 จังหวัดเพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละเขต ด้วยการใช้หลักคัดเลือกที่ดูตามดัชนีพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ (Human Development Index : HDI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ทำให้กับประเทศไทย

ประกอบกับดูข้อมูลจำนวนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ จากนั้นจึงทำการสุ่มเลือกอำเภอตัวแทนโดยใช้วิธีการเดียวกัน และใช้ Google Map เพื่อดึงเฉพาะพื้นที่ชุมชน เพื่อลงไปทำการสำรวจและเก็บข้อมูลความเห็น

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า จากผลสำรวจในปี 2560 กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95.66 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ได้ร้อยละ 91.86 ในทางสถิติมองว่าผลสำรวจที่ดีขึ้นนี้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเข้าไปดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความหวงแหนของประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

“คะแนนความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องบอกว่าจากผลสำรวจปีที่ผ่านๆ มา หากตัดคะแนนความพึงพอใจของประชาชนจะอยู่ในระดับเกรด  A มาตลอด

รวมถึงปีนี้ที่ขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ สปสช.ควรมุ่งปรับปรุงในส่วนยังประชาชนยังไม่พึงพอใจ การรับรู้ในสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย” 

สำหรับในส่วนคะแนนของทางฝั่งผู้ให้บริการนั้น แม้ว่าจะมีคะแนนความพึงพอใจที่มีความต่างจากประชาชนผู้มีสิทธิค่อนข้างมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่ามีคะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 66.21 ในปี 2559 เป็น 67.91 ในปี 2560 ซึ่งสูงกว่าที่คาดหวังไว้และถือเป็นแนวโน้มที่ดี

อย่างไรก็ตามการที่คะแนนความพึงพอใจผู้ให้บริการมีคะแนนน้อยกว่าความพึงพอใจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการทำงานด้านผู้ให้บริการต้องดูแลคนจำนวนมาก

อาจทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย มีความไม่เข้าใจและไม่พึงพอใจต่อระบบได้ ซึ่งการจะให้คะแนนความพึงพอใจผู้ให้บริการเท่ากับความพึงพอใจของประชาชนคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้ง สปสช.และผู้ให้บริการต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือประชาชน ดังนั้นอาจมีการจัดทำโมเดลเพื่อวางรูปแบบการทำงานเพื่อให้เกิดความพึงพอใจกับผู้ให้บริการ

ซึ่งต้องมีการปรับหลักเกณฑ์กลาง ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยร่วมทำงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อลดปัญหาติดขัดและภาระงานของผู้ให้บริการ อาทิ การทำให้ประชาชนรับรู้สิทธิและขั้นตอนการรับบริการ

13 ธันวาคม 2561

ผู้ชม 2282 ครั้ง

Engine by shopup.com