ตรวจ covid-19 ปุ๊บ รู้ปั๊บ !  สาธารณสุขชี้โฆษณาโอ้อวดเกินจริง รู้ผลแค่พริบตา 10 นาที อย.เข้ม ห้ามร้านขายยา วางขายเด็ดขาด อนุญาตให้เฉพาะแพทย์ตรวจตามมาตรฐานเท่านั้น

บทความ

ตรวจ covid-19 ปุ๊บ รู้ปั๊บ !  สาธารณสุขชี้โฆษณาโอ้อวดเกินจริง รู้ผลแค่พริบตา 10 นาที อย.เข้ม ห้ามร้านขายยา วางขายเด็ดขาด อนุญาตให้เฉพาะแพทย์ตรวจตามมาตรฐานเท่านั้น

 อ้างตรวจ covid-19 ปุ๊บ รู้ปั๊บ  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ Rapid Test โฆษณาโอ้อวดเกินจริง รู้ผลแค่พริบตา 10 นาที อย.เข้ม ห้ามร้านขายยา วางขายเด็ดขาด อนุญาตให้เฉพาะแพทย์ตรวจตามมาตรฐานเท่านั้น

News Update วันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2564 - ข่าวล่าสุด วันนี้ (11 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ล่าสุด เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสังคม สุขภาพ ท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook ทวิตเตอร์ @medhub_news รายงานว่า นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

แถลงข่าวประเด็นการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ทางห้องปฏิบัติการ ว่า

ขณะนี้ ประชาชนมีความกังวล อยากทราบว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ จึงหาซื้อชุดตรวจเร็วมาตรวจด้วยตนเอง ซึ่งไม่แนะนำให้ซื้อมาตรวจ

เนื่องจากไม่ใช่การตรวจทั่วไปเพื่อดูว่ากำลังติดเชื้อหรือไม่ แต่เป็นการตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 อาจได้ผลบวกและผลลบลวง

หากตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ และเข้าใจว่าตัวเองไม่มีเชื้อจะเป็นอันตราย นำเชื้อไปแพร่ให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ ชุดตรวจเร็วจะต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาล โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม

คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือ สหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือเทคนิคการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งการตรวจและการแปลผลต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

“กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ขายชุดตรวจเร็วในช่องทางออนไลน์ จำหน่ายได้ในสถานพยาบาลเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ

จะทำให้เสียเงิน หากป่วยจะเสียโอกาสในการรักษาหรืออาจแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว หากพบเห็นการโฆษณาขาย ขอให้แจ้ง อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทันที ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อว่า การตรวจหาเชื้อโควิด 19 ปัจจุบัน มีการตรวจอยู่ 2 วิธี คือ

1.การตรวจหาเชื้อไวรัสหรือส่วนประกอบไวรัส ซึ่งประเทศไทยใช้การตรวจแบบ RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานโลก โดยเก็บตัวอย่างได้

2 วิธี คือจากการป้ายหลังโพรงจมูกหรือจากลำคอ ทราบผลการตรวจประมาณ 4-5 ชั่วโมง และเก็บน้ำลาย ประชาชนสามารถเก็บน้ำลายด้วยตัวเอง และส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR หาสารพันธุกรรมของไวรัสเช่นเดียวกัน

ซึ่งมีข้อดีคือตรวจได้จำนวนมาก ใช้ระยะเวลาในการเก็บเชื้อรวดเร็ว และตรวจรวมเป็นกลุ่มได้ เมื่อพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มจะทำการตรวจแยกรายบุคคล

และ 2. การตรวจหาแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังการติดเชื้อ

ซึ่งจะใช้การส่งตัวอย่างเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือใช้ชุดตรวจเร็ว Rapid Test ใช้สนับสนุนการวินิจฉัย การสำรวจทางระบาดวิทยา หรือศึกษาความชุกในชุมชน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมี Chula COVID-19 StripTest เป็นชุดทดสอบที่คิดค้นโดยอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ การทดสอบอาศัยหลักการทางภูมิคุ้มกันร่างกาย (Serology Test)

ซึ่งเป็นการตรวจหาแอนติบอดี (IgG & IgM) ในเลือด ซีรัม หรือพลาสมา ใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีในการตรวจวินิจฉัยเพื่อคัดกรองเบื้องต้น

หวังว่าชุดทดสอบนี้จะช่วยแบ่งเบาจำนวนคนไข้ที่ต้องมารับบริการตรวจที่โรงพยาบาลจำนวนมาก

11 มกราคม 2564

ผู้ชม 2368 ครั้ง

Engine by shopup.com