"หนุ่มวัย 45 ปี ชาวระยอง" เครียด กลัว โรคมะเร็งตับ หมกหมุ่นกับการดูคลิปยูทูปเกี่ยวกับโรคมะเร็ง วกไป วนมา จนฆ่าตัวตาย

บทความ

"หนุ่มวัย 45 ปี ชาวระยอง" เครียด กลัว "โรคมะเร็งตับ" หมกหมุ่นดูคลิปยูทูปเกี่ยวกับมะเร็ง "วกไป วนมา จนฆ่าตัวตาย"

เมดฮับ นิวส์ - ปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญเสมอมา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั่วโลกทั้งรัฐบาลและองค์กรด้านสาธารณสุขในประเทศต่างๆ ได้ให้ความสนใจและแก้ไขปัญหา

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รายงานว่า กรณีนายวิเชียร เพิดขุนทด อายุ 45 ปี ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิตคาบ้านพัก ใน จ.ระยอง ซึ่งก่อนเกิดเหตุผู้ตายดื่มเบียร์จนหมดขวด โดยตำรวจนำศพส่งพิสูจน์ที่ รพ.บ้านฉาง

จากการสอบถามคนในครอบครัวให้การว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียชีวิตเกิดอาการเครียดคิดว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งตับ แต่เมื่อไปให้แพทย์ตรวจร่างกาย ผลตรวจแพทย์ระบุว่า ร่างกายปกติ ไม่ได้ป่วยเป็นโรค

ปรึกษาหมอจิตเวช ในจังหวัดใกล้เคียงได้ตามนี้ 

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานจากการตรวจสอบว่าเป็นคนยิงตัวเอง เพราะเกิดจากความเครียด

สำหรับ นายวิเชียร เพิดขุนทด ผู้เสียชีวิต มีอาการเครียดมาก เพราะกังวลว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ เนื่องจากหมอตรวจเจอว่ามีไขมันตับ

และมักพูดเป็นลางว่า   “อีกไม่นานคงไม่ได้อยู่แล้ว คงจะต้องไปแล้ว”

ส่วนอาการช่วงระหว่างที่เจ้าตัวกลัวว่าตัวเองจะป่วยเป็นมะเร็งนั้น ก็มีอาการจุกท้อง กลัวตัวเองจะเป็นกรดไหลย้อน จุกคอ ขับถ่ายไม่ออก กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ กังวลว่าจะเป็นมะเร็งตับตลอดเวลา

จึงไปปรึกษาแพทย์หลายโรงพยาบาล ในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งแพทย์ทุกรายก็ยืนยันว่า ไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งตับ และแพทย์ก็แนะนำให้ดื่มนมเป็นประจำ และกินยาคลายเครียด รวมถึงยาที่ช่วยขับถ่าย

นอกจากนี้ ญาติ ยังคอยแนะนำให้นายวิเชียรกินยาคลายเครียดบ่อย ๆ เพราะกลัวจะมีความเครียดมากเกินไป ซึ่งเชื่อว่า หากพาเขาไปปรึกษาหมอจิตเวชก่อน เขาคงไม่มาจบชีวิตตัวเองแบบนี้

ที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าเขาจะคิดสั้นฆ่าตัวตายแบบนี้ จึงไม่เคยมีใครพานายวิเชียรไปพบจิตแพทย์ โดยผู้ตายชอบดูคลิปยูทูปเกี่ยวกับโรคมะเร็ง  ซึ่งคลิปพวกนี้จะมีบรรดาบริษัทอาหารเสริมมาทำให้กังวลมาก

ขณะที่ หมอกอล์ฟ นายแพทย์สิทธา ลิขิตนุกูล แพทย์สังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม เชื่อว่าผู้ป่วยอาจจะมีอาการของโรควิตกกังวล กลัวว่าตัวเองจะป่วยหนัก เกิดได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง ตั้งแต่อายุ 20 เป็นต้นไป

แม้ว่าแพทย์จะวินิจฉัยตรวจร่างกาย และด้วยเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว ไม่พบอาการผิดปกติ แต่ผู้ป่วยก็ยังกังวลใจ ไปหาหมออยู่เรื่อย ๆ จนอาการกังวลนี้ เริ่มส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง แต่ทั้งนี้โรควิตกกังวล เป็นโรคที่เกิดจากทางใจ ผู้ป่วยจะมีอาการต่อเนื่องนานถึง 6 เดือนเป็นต้นไป

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยโรควิตกกังวลจะรักตัวเอง แต่หากมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ก็อาจส่งผลถึงขั้นคิดสั้น อยากฆ่าตัวตาย ซึ่งจากการประเมินดูแล้ว เชื่อว่าผู้ป่วยกรณีนี้น่าจะมีอาการของ 2 โรคร่วมกัน และไม่รู้ว่าจะระบายกับใคร จนทำให้เกิดความเครียด ส่งผลไปสู่การฆ่าตัวตาย

สิ่งสำคัญคือคนใกล้ชิดและครอบครัว จะต้องคอยช่วยสังเกต และตัวผู้ป่วยเองต้องหาที่ปรึกษาพูดคุยกับคนใกล้ชิด หากไปพบแพทย์มากกว่า 1 คน และวินิจฉัยตรงกันว่าไม่เป็นอะไร ก็อย่ากังวล ควรทำตัวเองให้คลายเครียดออกกำลังกาย ผ่อนคลาย เพราะเมื่อร่างกายคลายเครียดแล้ว ภูมิคุ้มกันก็จะดีขึ้น อาการโรคต่าง ๆ ที่เป็น ก็อาจจะเบาลงได้

นพ.สิทธา ฝากแนะนำการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตว่า อาจจะได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เท่ากับการพบแพทย์โดยตรง หากไม่แน่ใจการวินิจฉัยของแพทย์ที่แรก ก็ยังสามารถไปตรวจใหม่ครั้งที่สอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ ซึ่งหากตรวจจากแพทย์สองที่แล้วยังไม่พบว่าป่วยหรือเป็นโรค ก็ไม่ควรจะกังวลมากเกินไป

สำหรับ ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานในทั่วโลกที่พบบ่อย คือ โรคซึมเศร้า ประมาณ 300 ล้านคน และ ภาวะเครียด โรควิตกกังวล ประมาณ 260 ล้านคน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราจะอยู่ในช่วงเวลาของการทำงาน

ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ หากมีประสบการณ์การทำงานที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและผลผลิตของงาน ตรงกันข้าม หากมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ดี ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต เกิดปัญหาสุขภาพตามมา อาจใช้ยาเสพติด สุรา และหยุดงาน

สำหรับประเทศไทย ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน   ( ช่วงอายุ 20 - 59 ปี ) ที่น่าห่วง คือ ปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบว่า เป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด อยู่ที่ 8.04 ต่อแสนประชากร

โดยเฉพาะอายุระหว่าง 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด 9.55 ต่อแสนประชากร และ จากสถิติการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงาน ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า ปัญหาทางจิตเวช เป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่วัยทำงานโทรเข้ามาปรึกษามากที่สุด พบถิติจิตเวช จำนวน  20,102 คน

รองลงมา คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล จำนวน 17,347 คน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกาย โรคเรื้อรัง มีหนี้สิน ฯลฯ ปัญหาความรักจำนวน 4,776 คน ปัญหาครอบครัว 2,513 คน และซึมเศร้า 2,085 คน ตามลำดับ

ทั้งนี้ แนวทางสร้างสุขทั้งในสถานประกอบการและชุมชน ที่สามารถทำได้ง่าย คือ การพอเพียงอย่างมีสติ และทำจิตอาสา ซึ่งการพอเพียงอย่างมีสติ พึงพอใจในสิ่งที่มี จะทำให้เรารู้จักความพอดี มีความสุขกับชีวิตตามอัตภาพ ไม่ยึดติด และปล่อยวางได้

ภาพจาก อมรินทร์ ช่อง 34 

18 มกราคม 2562

ผู้ชม 4848 ครั้ง

Engine by shopup.com