"ผมมีลูกชายคนเดียว น้องอ๊อฟเป็น โรคซึมเศร้า เราดูแลเขาอย่างดี" เจ็บป่วยทางใจ ทุกข์ทางใจ รีบปรึกษาจิตแพทย์
"ผมมีลูกชายคนเดียว น้องอ๊อฟเป็น โรคซึมเศร้า เราดูแลเขาอย่างดี" เจ็บป่วยทางใจ ทุกข์ทางใจ รีบปรึกษาจิตแพทย์
News Update : ก่อนเกิดเหตุผมและแม่ของน้องอ๊อฟกลับบ้าน จ.เพชรบูรณ์ เพื่อไปทำบุญวันออกพรรษา ตั้งใจจะพาลูกกลับไปบ้านเกิดด้วยกัน
แต่เขาติดงานและเรียนด้วยเลยไม่ได้ด้วยกัน
ผมไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์นี้มันจะเกิดขึ้นกับครอบครัวเรา...
นายอนุตร์ โต๊ะชาลี พ่อของนายอนันต์ โต๊ะชาลี หรือน้องอ๊อฟ บอกว่า หลังเกิดเหตุลูกชายกระโดดสะพานภูมิพล จนหายสาบสูญไปในแม่น้ำเจ้าพระยา
ตอนนี้ครอบครัวของน้องอ๊อฟ ก็ยังนั่งเฝ้ารอที่จะพบลูกชาย อยู่ที่ใต้สะพานภูมิพลจุดเกิดเหตุ
ทาง เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com ขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวน้องอ๊อฟ ด้วยนะครับ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งค้นหาร่างนักศึกษา อายุ 23 ปี ที่กระโดดสะพานภูมิพล 1 จมหายไปในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจอดจักรยานยนต์ทิ้งไว้ กลางสะพาน
ซึ่งกล้องวงจรปิด บันทึกภาพวินาทีที่นักศึกษา ขี่จักรยานยนต์มาจอด แล้วปีนราวสะพาน และกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ ข่าวสาธารณสุข ท่องเที่ยว รายงานว่า "นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข" อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่
ปัจจุบัน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัด "กรมสุขภาพจิต" กระทรวงสาธารณสุข
หลายๆ คนคงต้องยอมรับถึงความสามารถ "ในการบุกเบิกการรักษาอย่างเป็นระบบของโรคซึมเศร้า"
และเป็นแพทย์ที่มุ่งมั่นพัฒนางานเพื่อคนไข้จริงๆ ดั่งจะเห็นได้จากบทกลอนในหนังสือต่างๆ ที่ผู้ร่วมทำงานกับคุณหมอประทับใจ
สำหรับเรื่องอาการใจหาย ความเศร้า ปัญหาความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น คนรัก บุคคลในครอบครัว ฯลฯ
ในโอกาสนี้ผมจะขอกล่าวถึง ปฏิกิริยาของจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียบุคคลที่รักและแนวทางดูแลร่างกายจิตใจ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถปรับตัวจนผ่านพ้นช่วงแห่งการสูญเสียนี้ไปด้วยดี
การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นกฎธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการสูญเสียและการพลัดพรากจากบุคคลที่รักจึงเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนต้องประสบในชีวิต
คำว่า “บุคคลที่รัก” กินความหมายกว้างกว่า แฟน สามี ภรรยา หรือคู่รัก จะหมายรวมถึง บุคคลที่เรามีจิตผูกพันด้วย เช่น พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง ครู อาจารย์ บุคคลที่เราเคารพนับถือ เมื่อเราสูญเสียบุคคลที่รัก
โดยเฉพาะการตายจากไป ปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้น คือ ความเศร้าโศก เป็นปฏิกิริยาตอบสนองปกติของจิตใจต่อความทุกข์อันเนื่องมาจาก บุคคลที่รักตายจากไป
ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ระยะแรกทันทีที่รับรู้การจากไปจะเกิดความรู้สึก ตกตะลึง มึนชา ไม่เชื่อ หรือปฏิเสธ
ระยะนี้ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง หรือ อาจถึง 2-3สัปดาห์ ระยะที่2 เป็นระยะเริ่มมีสติรับรู้ถึงการสูญเสีย การแสดงออกที่เด่นชัดคือ การร้องไห้ คร่ำครวญ ถึงผู้ที่เสียชีวิต หรืออาจโกรธ หงุดหงิดง่าย และอาจมีปฏิกิริยาทางกายร่วมด้วย
เช่น หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก จุกแน่นในคอ อ่อนล้าเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ฝันถึงผู้ที่จากไป ความคิดความสามารถในการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ
ส่วนใหญ่ระยะนี้จะใช้เวลา 2-3สัปดาห์ และค่อยๆดีขึ้นเอง มักจะไม่นานเกิน 6 เดือน ระยะที่3 เป็นระยะปรับตัวฟื้นคืนสู่สภาวะปกติ จะยอมรับความจริงว่าบุคคลที่รักนั้นได้จากไปแล้วจริงๆ
การหมกหมุ่น คิดถึงก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ มีความหวังและมองหาสิ่งใหม่ๆให้ชีวิต จากการศึกษาวิจัยจะพบว่าผู้ที่เศร้าโศกจากการสูญเสียร้อยละ90-95 ฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติเมื่อเวลาผ่านไป
มีเพียงร้อยละ 5-10 เกิดเป็นความเศร้าโศกที่ผิดปกติ ไม่สามารถปรับตัวฟื้นคืนสู่ภาวะปกติได้
ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแนะนำปรึกษาและการดูแลรักษาจากผู้เชียวชาญ ได้แก่ ผู้ที่มีความเศร้าโศกเรื้อรังยาวนานอยู่เป็นเวลาหลายปี ผู้ที่มีความเศร้าโศกมากเกินไป รุนแรงจนเสียหน้าที่ในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน
และผู้ที่เก็บกดปฏิเสธความจริงไม่แสดงปฏิกิริยาเศร้าโศกออกมาในครั้งนั้นแต่จะเกิดเศร้าโศกรุนแรงในอนาคตหากประสบเหตุการณ์สูญเสีย ซึ่งผู้ที่มีความเศร้าโศกที่ผิดปกตินี้อาจนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือมีความคิดฆ่าตัวตายได้
ไม่สามารถบอกได้ว่าความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลที่รักในคนปกติทั่วไปจะมีระยะเวลาเท่าไร
บางคนอาจจะดีขึ้นในสัปดาห์ บางคนอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี
ซึ่งความรุนแรงและระยะเวลาของความเศร้าโศกของแต่ละคน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากความเศร้าโศก ขึ้นอยู่กับ 1).ลักษณะเหตุการณ์ที่สูญเสีย ถ้าเป็นการสูญเสียที่ไม่ได้คาดหมายความเศร้าโศกมักจะรุนแรง
2).ความผูกพันต่อกัน หากรักใคร่ผูกพันมากความเศร้าโศกจากการสูญเสียก็จะรุนแรง 3).ทักษะการแก้ไขปัญหาและการปรับตัวต่อการสูญเสียในอดีต หากเคยประสบความสูญเสียมาแล้วและสามารถปรับตัวได้ดี ปฏิกิริยาต่อการสูญเสียในครั้งนี้ก็จะมีไม่มากและจะสามารถฟื้นตัวผ่านพ้นไปได้ง่าย
4).บุคลิกภาพและสุขภาพจิตเดิม หากเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ไม่เจ็บป่วยทางจิตในย่อมสามารถผ่านกระบวนการสูญเสียได้ดีกว่า
5).ความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดและสังคมรอบข้าง ถ้ามีครอบครัวที่อบอุ่นหรือได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากเพื่อน ก็จะช่วยให้เกิดการปรับตัวและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 6).พื้นฐานทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา
7).สถานะทางเศรษฐกิจสังคม หากมีพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดีและผู้ที่จากไปเป็นเสาหลักของครอบครัวย่อมทำให้เกิดความเศร้าโศกได้มาก
สำหรับ การเตรียมตัวว่า ควรทำอย่างไรเมื่อสูญเสียบุคคลที่เรารัก วิธีปฏิบัติตัวเมื่อสูญเสียบุคคลที่รัก
รับรู้และให้เข้าใจว่า ความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนที่รักเป็นปฏิกิริยาปกติของคน เราไม่ได้บ้า เราไม่ได้อ่อนแอ ถ้าอยากร้องไห้ ก็ร้องไห้ออกมา
ไม่เก็บหรือปิดบังความรู้สึกและความเศร้าโศก จงอนุญาตให้ตนเองเศร้าหรือเจ็บปวดใจ เศร้าด้วยตัวของเรา ในรูปแบบของเราไม่ต้องเลียนแบบคนอื่นหรือให้คนอื่นบอกว่า ควรจะเศร้า หรือรู้สึกอย่างไร หรือจะหยุดเศร้าเมื่อไหร่
หาช่องทางระบายความความรู้สึกต่อบุคคลที่รักที่จากไปเพื่อการเยียวยาจิตใจ เช่น การพูดถึง การเล่า การเขียนประสบการณ์
เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคลลที่รักที่จากไปนั้น หรือแบ่งปันความรู้สึก พูดคุยกับกลุ่มผู้ที่เคยมีประสบการณ์สูญเสีย
หาทางคลายความเครียดความทุกข์ใจด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำกิจกรรมศิลปะ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือกิจกรรมทางศาสนา
เศร้าโศกแค่ไหนต้องรักษาสุขภาพไว้ให้ดี โดยทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับเป็นเวลาอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงสุราและสารเสพติด
จงอดทนกับตนเอง อย่ากดดันตนเอง หากไม่สามารถทำอะไรได้ดีอย่างที่เคยทำได้ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่อยู่อาศัย หรือเปลี่ยนความสัมพันธ์ในช่วงที่เศร้าโศกนี้
ทำให้การสูญเสียที่เกิดขึ้นมีความหมาย เปลี่ยนความเศร้าโศกให้เป็นพลังสร้างสรรค์ ละทิ้งภาพที่เจ็บปวดคงไว้ซึ่งประสบการณ์ดีๆ ที่มีต่อกัน และทำสิ่งดีมีคุณค่าอุทิศแก่บุคคลที่รัก ทบทวนชีวิตและมองหาโอกาสที่จะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบุคคลที่รักที่จากไปให้เกิดประโยชน์ในอนาคต
จงเมตตาและให้อภัยต่อตนเองและผู้อื่นในสิ่งที่พูด สิ่งที่กระทำ หรือสิ่งที่ไม่ได้พูด สิ่งที่ไม่ได้กระทำ เพราะความเมตตาและการให้อภัยเป็นสิ่งสำคัญในการเยียวยาจิตใจในภาวะสูญเสีย
เมื่อไรที่รู้สึกแย่มากๆ ใน 2 สัปดาห์ มีอารมณ์เศร้าแทบทั้งวัน ไม่อยากทำอะไรแม้เป็นกิจกรรมที่เคยชอบ รู้สึกหมดหวัง มีความคิดอยากตาย ให้รีบปรึกษาแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์
"นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข"
ภาพประกอบความ จาก CNN สำนักข่าว ตปท.
คำค้น #โรคซึมเศร้า , โรคซึมเศร้า , อาการใจหาย , ทำไมรู้สึกใจหาย , 1323 สายด่วน, สถิติผู้ป่วยจิตเภท 2561 , สายด่วนสุขภาพจิต 1300 , สายด่วนสุขภาพจิต 1323 , สายด่วนกรมสุขภาพจิต , สายด่วนจิตเวช , สายด่วน1323 , โรคจิตเภท ,ผู้ป่วยทางจิต
ลิขสิทธิ์บทความของ นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข
20 ตุลาคม 2562
ผู้ชม 7108 ครั้ง