"กรมการแพทย์แผนไทยฯ" แนะสมุนไพร ใกล้ตัว ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
"กรมการแพทย์แผนไทยฯ" แนะสมุนไพร ใกล้ตัว ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
MED HUB NEWS - หลังจาก “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ “ตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย” ( Thai Herbal Pharmacopoeia ) ขึ้น
เพื่อส่งเสริมให้ยาสมุนไพรไทยมีคุณภาพมาตรฐานสากล ลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน จากต่างประเทศ
ทำให้วงการแพทย์แผนไทยได้รับเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการ และ ผู้ศึกษาค้นคว้างานวิจัยที่มองว่าเป็นสัญญาณที่ดี เกิดมาตรฐานที่สูงมากขึ้น
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับ “โรคเบาหวาน” ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หมายถึง ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากความบกพร่องของตับอ่อน
และออร์โมนอินซูลินในร่างกาย อาการสำคัญที่สังเกตได้ของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน หิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย มีอาการชาปลายมือปลายเท้า
หากมีบาดแผล มักจะหายช้า ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับ ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการตามมา
โดยเฉพาะพืชผักสมุนไพรใกล้ตัวหลายชนิด ที่ใช้เป็นอาหารมีรายงานการวิจัยพบว่า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลองที่เป็นเบาหวาน และหลายชนิดผลการศึกษาวิจัยมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน
เช่น กะเพรา ตำลึง มะระขี้นก ผักเชียงดา สำหรับ กะเพรา สมุนไพรยอดฮิตที่คนไทยนิยมรับประทานกันในขณะที่ทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย
ถือว่ากะเพรา เป็นสมุนไพรศักดิ์สิทธิ์ มีสรรพคุณหลากหลายในการแพทย์อายุรเวท เช่น บรรเทาอาการไอ หวัด และการติดเชื้อทางเดินหายใจ ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ
ช่วยลดอาการที่เกิดจากความเครียด เพิ่มความจำ เพิ่มภูมิคุ้มกัน
งานวิจัยของอินเดียชี้ให้เห็นว่า การรับประทานผงใบกระเพราแห้งในปริมาณ 2.5-3 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า
สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ หรือให้รับประทานในปริมาณ 6 กรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนและหลังอาหารเช้า ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสูงและลดไขมันในเลือดสูงได้
ส่วนสารสกัดด้วยน้ำของใบกะเพราขนาด 5 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร สามารถลดน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยกลุ่มอาการอ้วนลงพุง ( Metabolic Syndrome ) ได้
และยังพบว่าประมาณ 63% ของผู้ป่วยเบาหวานที่ดื่มน้ำต้มกะเพรา วันละ 700 มิลลิลิตร โดยต้มต้นกะเพราแห้ง 20 กรัม ในน้ำ 1 ลิตร แล้วกรองดื่ม ตอบสนองต่อฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ดี
งานวิจัยทางเคมีพบว่า สารสำคัญที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในกะเพราเป็นสารกลุ่มไทรเทอร์พีนอยด์ ซึ่งจากงานวิจัยเหล่านี้จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยเบาหวานหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเป็นเบาหวาน สามารถนำใบกะเพรามาใช้เป็นอาหารในวิถีชีวิตประจำวันได้
ข้อแนะนำกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาแผนปัจจุบัน การจะนำไปใช้ร่วมกับยาอื่นอาจต้องใช้กระเพราในปริมาณที่พอเหมาะ หรือปรับลดยาแผนปัจจุบันลง ซึ่งต้องกระทำโดยแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อป้องกันภาวะช็อค จากระดับน้ำตาลในเลือด
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ Call Center 02 5917007 ต่อกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยฯ หรือศึกษาข้อมูล ในแอพลิเคชั่นสมุนไพรไทย ( Thai Herbs )
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com
19 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 5143 ครั้ง