“โรคซึมเศร้า” ไม่ใช่โรคของคนอ่อนแอ ลดอคติ ตราบาป ผู้ป่วยควรยึดอก "กล้า" เดินเข้า รพ.จิตเวช ที่ไม่ใช่ "รพ.คนบ้า" เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com

บทความ

“โรคซึมเศร้า” ไม่ใช่โรคของคนอ่อนแอ ลดอคติ ตราบาป ผู้ป่วยควรยึดอก "กล้า" เดินเข้า รพ.จิตเวช ที่ไม่ใช่ "รพ.คนบ้า"

ปัญหาโรคซึมเศร้า กลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอันดับต้นๆ   ทาง กรมสุขภาพจิต จัดสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ปีที่ 28  ชู “ซึมเศร้า เราคุยกันได้” รณรงค์อย่างต่อเนื่อง หวังสังคมตื่นตัวช่วยกันแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า โดยต้องเปลี่ยนทัศคติ ไม่ใช่โรคคนอ่อนแอ และ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงให้มากกว่านี้ กล้ารักษา ยึดอกเดินเข้าหารพ.ทางจิตเวช ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลคนบ้า 

กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com รายงานว่า นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2560 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน ของทุกปี

นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา ในปีนี้ รณรงค์ภายใต้ หัวข้อ “Depression : Let's Talk ซึมเศร้า...เราคุยกันได้” โดยกล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพประชากรทั่วโลกมากกว่า 300 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงมีความสำคัญ และมาตรการหนึ่งที่ภาคประชาสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ ร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อลดอคติและตราบาป และเพิ่มการเข้าถึงการรักษาทางจิตเวช เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภาวะซึมเศร้าและอาการของโรคและ   รู้วิธีพื้นฐานในการรับมือและให้ความช่วยเหลือ

ในจำนวนผู้ป่วย 1.5  ล้านคน พบว่า เข้าถึงบริการเพียงครึ่ง สาเหตุส่วนใหญ่ มาจากการขาดความตระหนัก คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับ ผู้มีภาวะเช่นนี้มักถูกมองว่า เป็นคนอ่อนแอ เสแสร้ง หรือแกล้งทำ ทั้งๆที่ภาวะนี้มีความเสี่ยง หากปล่อยทิ้งไว้ นำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้

กรมสุขภาพจิต จึงมีทศวรรษแห่งการรณรงค์ เรื่อง ภาวะซึมเศร้า เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคม ให้มองว่า ภาวะซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย หรือต้องหลบหลีกหนีหน้า สามารถพูดคุยกันได้ หากคนใกล้ชิดได้สังเกต และให้ความสนใจ สามารถดูแลและให้การช่วยเหลือได้

นอกจากนี้ ยังดำเนินงานเชิงรุก ด้วยเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในการลงเยี่ยมบ้าน สังเกตแต่ละครัวเรือนว่ามีใครมีภาวะซึมเศร้าบ้างหรือไม่ การดำเนินงานเช่นนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้อย่างทันท่วงทีและเข้าถึงมากยิ่งขึ้น

การช่วยให้หลุดพ้นจากภาวะซึมเศร้า สามารถใช้หลัก 3 ส. ได้แก่ สอดส่องมองหา ( Look ) จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น พูดน้อยลง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม เมื่อพบแล้วต้อง การใส่ใจรับฟัง ( Listen )

 โดยมีการพูดคุยหรือสัมผัส โอบกอด เพื่อให้รู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง สร้างความผ่อนคลาย ให้ได้ระบายให้ฟัง การช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถช่วยให้ผ่อนคลายได้มากทีเดียว

แต่เมื่อพบว่ามีภาวะซึมเศร้า คนในครอบครัวรู้สึกเกินกำลังให้รีบ ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) พบจิตแพทย์ เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ผู้ใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว จึงต้องเข้าใจธรรมชาติของภาวะซึมเศร้า อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยต้องเผชิญเพียงลำพัง

ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด   24 ชั่วโมง 

ด้าน นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้ง กรมสุขภาพจิต สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

รวมทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า แจ้งวัฒนะ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4  มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา และดารานักแสดง

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการ ซึมเศร้า...เราคุยได้  ประตูลับ “ใครคิดว่าบ้า เชิญให้ ศรีธัญญาพิสูจน์” การประเมินความเครียดและภาวะซึมเศร้า เซียมซีความสุข  อาหารสร้างสุข

การสร้างสุขด้วยสติบำบัด การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผู้ป่วยจิตเวช ตลอดจน การบริจาคและทำบุญร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นต้น

CR.sos โรคซึมเศร้า 

02 ธันวาคม 2560

ผู้ชม 3873 ครั้ง

Engine by shopup.com