"เถาวัลย์เปรียง" สมุนไพรแก้เมื่อย ผ่านวิจัยทั้งไทย ตปท.มีที่มาน่าสนใจ เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์นวัตกรรม การค้าการลงทุน อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

บทความ

"เถาวัลย์เปรียง" สมุนไพรแก้เมื่อย ผ่านวิจัยทั้งไทย ตปท.มีที่มาน่าสนใจ

 

MED HUB NEWS แวดวงสมุนไพรไทย หากเอ่ยถึงสมุนไพรอภัยภูเบศร ต้องบอกว่ากลายเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานว่าสูง ปลอดภัย เนื่องจากต้องผ่านงานวิจัย ทดลอง หลายขั้นตอนกว่าจะได้มาใช้ในแวดวงการแพทย์

ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม ( MEDHUBNEWS.COM ) และ เพจ sasook รายงานว่า หมอยาแห่งเมืองปราจีนบุรี ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภุเบศร ผู้ปลุกปั้น “อภัยภูเบศร” เขย่าวงการแพทย์แผนไทย

ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างตำรับยาจากสมุนไพรหลายพันชนิด พร้อมเดินหน้าก้าวสู่ผู้นำด้านการแพทย์แผนไทยในอาเซียน

อาจารย์ต้อม หรือ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ที่ เว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม คุ้นเคยกันดี เล่าถึง "เถาวัลย์เปรียง" ว่าเป็นสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยรู้จักใช้กันดี ปรากฏอยู่ในตำรายาแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในหลายคัมภีร์

เป็นสมุนไพรที่มีความถี่ในการใช้และ ปรากฏในตำรายาสูงมากชนิดหนึ่งโดยใช้เถาเป็นส่วนประกอบในตำรับยาแก้กษัยแก้เหน็บชา ถ่ายเส้นเอ็น ถ่ายกษัย แก้เส้นเอ็นขอด แก้เมื่อยขบ

ทำให้เส้นหย่อน แก้ปวด แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้โรคบิด แก้โรคหวัด แก้ไอ ขับเสมหะ ถ่ายเสมหะลงสู่คูดทวาร ถ่ายอุจาระ บีบมดลูก สรรพคุณเหล่านี้คล้ายคลึงกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้านทั่วไป


 

ภญ.สุภาภรณ์ เล่าว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 คุณแม่ลีสี แซ่เอี้ยว ปัจจุบันท่านมีอายุ 92 ปี เป็นคุณแม่ของ ภญ.พัชรี ศรานุรักษ์ ( ปัจจุบันรับราชการที่โรพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ) ในปีนั้นท่านได้มาพบและออกปากฝากสมุนไพรชนิดหนึ่งไว้ว่าอย่าให้สูญไป

ยาตัวนี้ก็คือเถาวัลย์เปรียง ท่านได้ความรู้มาจากซินแส ที่จังหวัดราชบุรี โดยใช้เป็นยาแก้ตกขาว ท่านบอกให้คนรักษาตัวเองหายมาแล้วหลายราย ไม่ใช่เฉพาะตกขาวอย่างเดียว ตกเหลืองตกเขียว ตกแดงช้ำๆ ก็กินหายมาแล้ว

ต่อมามีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเถาวัลย์เปรียงมากขึ้นก็พบว่า มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้นกันซึ่งอาจจะเป็นกลไกที่ช่วยให้อาการตกขาวดีขึ้น


นอกจากนี้ เมื่อปี 2536 มีคุณยายอายุ 70 ปี ที่รู้จักคุ้นเคยกัน ได้มาปรึกษาว่า ป่วยด้วยโรคปวดเข่า แต่กินยาแก้ข้ออักเสบไม่ได้ เพราะมีผลข้างเคียงจนเป็นโรคกระเพาะ จึงได้ทำยาเถาวัลย์เปรียงให้ลองกิน

ปรากฏว่าช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าของคุณยายได้พอสมควร ช่วงนั้นพบว่า มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการยาแก้ปวดเมื่อยปวดข้อที่ไม่มีผลข้างเคียงเช่นที่เกิดจากการใช้ยาแผนปัจจุบัน

เมื่อรู้ว่าเถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่คนโบราณใช้กันมานานเพื่อรักษาโรคกษัย แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นตึง และยังมีการต้มกินเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะ และตรวจสอบข้อมูลการศึกษาวิจัยก็พบว่าเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเป็นยาแก้ปวดเมื่อย

แต่เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย จึงได้ส่งเถาวัลย์เปรียงให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ เมื่อพบว่าไม่มีพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง จึงพัฒนาเถาวัลย์เปรียงในรูปแคปซูลแก้ปวดเมื่อยขึ้นใช้ในโรงพยาบาล

 

“ต่อมามีงานวิชาการพบว่า เถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง หวัด ภูมิแพ้ และยังผ่านการทดลองทางคลินิก (ทดลองในคน)

ในการแก้ปวดจากเข่าเสื่อมโดยเปรียบเทียบกับนาพร็อกเซน (ยาต้านการอักเสบแผนปัจจุบัน) แล้วพบว่าได้ผลไม่แตกต่างกัน

และในการแก้ปวดหลังระดับเอว เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน คือ ยาไดโคลฟีแนค ก็พบว่าได้ผลไม่ต่างกันอีกเช่นกัน มิหนำซ้ำเถาวัลย์เปรียงยังมีผลข้างเคียงน้อยกว่า

ทำให้ปัจจุบันแคปซูลเถาวัลย์เปรียงได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2554” ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวและว่า เถาวัลย์เปรียง หรือเครือตาปลา

จึงเป็นอีกหนึ่งคำตอบของยาแก้การปวดเมื่อยที่ปลอดภัย และยังใช้เป็นยารักษาโรคภัยอื่นๆได้อีก เป็นการยืนยันว่าภูมิปัญญาไทยใช้ได้จริง ถ้าคนไทยใส่ใจไม่ทอดทิ้ง

ก็อปปี้ URL Shortener ได้ที่ลิ้งค์นี้ 

"ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร"  เจ้าแม่สมุนไพรอภัยภูเบศร เปิดที่มาของ "เถาวัลย์เปรียง" ที่คนไทยรู้จักกันในวันนี้ เป็นเพราะ  คุณแม่ลีสี แซ่เอี้ยว ปัจจุบันวัย 92 ปี ฝากไว้ไม่ให้สูญสิ้น

[ https://medhubnews.com/ดูบทความ-31453-เถาวัลย์เปรียงสมุนไพรแก้เมื่อยผ่านวิจัยทั้งไทยเทศ

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News   

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

10 ธันวาคม 2561

ผู้ชม 4239 ครั้ง

Engine by shopup.com